
มุมมอง

การกินเพื่อสุขภาพ หมายถึง กินแล้วร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บออดๆ แอดๆ ซึ่งจะต้องกินตามรูปแบบต่อไปนี้
กินอาหารที่หลากหลาย ไม่ใช่ชอบอะไรก็กินแต่อย่างนั้นอย่างเดียว ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ชอบผักก็จะกินแต่เนื้อสัตว์แต่อย่างเดียว เป็นต้น
กินอาหารสดๆ เช่น ผักสด ผลไม้สด ที่ปราศจากสารพิษแม้แต่เนื้อสัตว์ก็ไม่ใช่มาจากอาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารกระป๋อง
กินอาหารที่มีเส้นใยหรือกากมาก เช่น กินข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ ก็จะได้ประโยชน์มากกว่ากินข้าวที่ขัดขาว แต่ข้าวซ้อมมือเมื่อหุงแล้วจะแข็ง จึงควรเลือกข้าวหอมมะลิซ้อมมือ เวลาหุงก็ปนข้าวเหนียวลงไปเล็กน้อยจะช่วยให้ข้าวนุ่มและมีรสออกหวานนิดๆ การกินอาหารที่มีกากมาก จะช่วยให้ท้องไม่ผูกเป็นการลดอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
เลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน เป็นพวกอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม เช่น ลูกกวาด น้ำอัดลม ฯลฯ
หลีกเลี่ยงการกินไขมันอิ่มตัว เดี๋ยวคุณผู้ชายจะให้สมญาว่า ?คุณปิ่นโตต่อขา? เช่น พวกอาหารที่มีเนยเป็นส่วนประกอบหรืออาหารทอด

เลี่ยงอาหาร ที่ใส่เกลือเกินความต้องการของร่างกาย คืออย่ากินรสเค็มจัด (ในผงชูรสก็มีเกลือ) อาหารที่โรยเกลือป่น เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ถั่วลิสง หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วหรืออบโรยเกลือป่น แม้แต่อาหารหมักดองก็มีเกลือ
เลี่ยงแอลกอฮอล์ เหล้าเป็นสาเหตุของโรคหลายอย่าง เช่น โรคตับแข็ง และอื่นๆ
เรื่องการกินมีผลต่อสุขภาพมากจึงมีคำกล่าวว่า กินอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น อาหารสามารถป้องกันและรักษาโรคได้ยิ่งกว่า ยา ดังนั้นจะกินอะไรควรนึกถึงประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย ไม่ใช่เพื่อความอร่อยปากแต่อย่างเดียว

หลักการกินอาหารเพื่อสุขภาพ
1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
- หมู่ที่หนึ่ง ได้แก่ โปรตีน จะเป็น เนื้อสัตว์ หรือจากพืช เช่นพวกถั่วเหลือง
- หมู่ที่สอง ได้แก่ ไขมัน ทั้งจากพืชหรือสัตว์
- หมู่ที่สาม ได้แก่ แป้ง ข้าว น้ำตาล ซึ่งจัดเป็นพวกคาร์โบไฮเดรต
- หมู่ที่สี่ ได้แก่ วิตามิน และเกลือแร่
- หมู่ที่ห้า ได้แก่ น้ำดื่มธรรมดา (ประมาณวันละ 6-8 แก้ว)
2. กินอาหารให้อิ่มกำลังพอดี ไม่มากหรือน้อยไป ถ้ากินมากไปก็จะอ้วนซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคหลายอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
3. เลือกกินอาหารธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น ผักสด ผลไม้สด (ไม่มียาฆ่าแมลง) เนื้อสัตว์ที่สดไม่มีโรค
4. พยายามประกอบอาหารกินเองในครอบครัว การกินอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารที่ปรุงสำเร็จมาแล้วควรจะเป็นนานๆ ครั้ง
5. เลี่ยงอาหารที่ปิ้ง ย่างจนเกรียม รวมทั้งเลี่ยงอาหารที่ทอดน้ำมันซ้ำๆ จนน้ำมันเปลี่ยนสี เพราะจะมีสารก่อมะเร็งเกิดขึ้น

6. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ใส่สารเคมี เช่น ใส่ดินประสิว สารกันบูด สารบอแรคซ์ เป็นต้น ได้แก่ไส้กรอก แฮม เบคอน ฯลฯ
7. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เช่น กินอาหารที่เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะอาหาร กินเค็มจัดเสี่ยงกับโรคไต ฯลฯ
8. หลีกเลี่ยง เครื่องดื่มที่มีสารเสพติด
9. กินอาหารให้เป็นเวลาทุกมื้อ อาจจะช้าหรือเร็วกว่าปกติไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพราะเมื่อถึงเวลาอาหารน้ำย่อยจะหลั่งออกมา ถ้าไม่มีอาหารน้ำย่อยจะย่อยเยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้เกิดเป็นแผลที่กระเพาะอาหารได้
10. หลีกเลี่ยงอาหารปลอม เช่น น้ำปลาปลอม น้ำส้มสายชูปลอม
ขอบคุณ ที่มา : Lisa ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต