การบินไทยโชว์สภาพคล่องฟื้น ลดแผนกู้เงินเหลือ 2.5 หมื่นล้าน
การบินไทยโชว์สภาพคล่องฟื้น ลดแผนกู้เงินเหลือ 2.5 หมื่นล้าน
“ชาญศิลป์” ปลื้ม ! เดินหน้าฟื้นฟู “การบินไทย” ได้เร็วกว […] อ่านข่าวต้นฉบับ: การบินไทยโชว์สภาพคล่องฟื้น ลดแผนกู้เงินเหลือ 2.5 หมื่นล้าน


“ชาญศิลป์” ปลื้ม ! เดินหน้าฟื้นฟู “การบินไทย” ได้เร็วกว่าแผน เผยลดคน-ลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 4 หมื่นล้าน “คาร์โก้” ฮีโร่สร้างรายได้ช่วงโควิด ขณะที่รายได้ผู้โดยสารเริ่มฟื้นตัว หลังเปิดประเทศ หนุนกระแสเงินสดในกระเป๋าดีขึ้น ปรับแผนลดวงเงินกู้ 5 หมื่นล้าน เหลือแค่ 2.5 หมื่นล้าน มั่นใจ เม.ย.นี้ อุตฯท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง เตรียมเพิ่มความถี่เส้นทางบินยุโรป เปิดเส้นทางบินสู่ซาอุฯ-อินเดีย

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟู และอดีตรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่บริษัทการบินไทยเข้าสู่กระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะนี้ถือว่าเดินหน้าได้เร็วกว่าที่แผนกำหนดไว้ และมีความคืบหน้าในทิศทางที่ดีต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าการดำเนินงานตามแผน 5 ปี (2564-2568) ไม่น่ามีปัญหา โดยภาพรวมในปี 2564 ที่ผ่านมาก็ทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้เชื่อว่าบริษัทจะสามารถบรรลุตามแผนฟื้นฟูได้ใน 3 ปี

ไล่ปรับลดค่าใช้จ่ายทุกส่วน

ประเด็นที่บริษัทได้ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่เข้าแผนฟื้นฟู คือการปรับโครงสร้างลดขนาดองค์กร ปรับการจ้างงานปรับลดค่าใช้จ่ายดำเนินงาน เจรจากับผู้ให้เช่าอากาศยานในการจัดทำ Letter of Intent (LOI) เพื่อปรับลดค่าเช่าอากาศยาน พร้อมกับการหารายได้จากกิจกรรมสนับสนุน และการขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท BAFS

รวมถึงได้มีการยกเลิกสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน16 ลำ และขายสินทรัพย์รอง อสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการขายเครื่องบิน เครื่องยนต์ พัสดุการคลัง หุ้นในบริษัทร่วม และการปรับลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการหารายได้

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ผลจากการดำเนินโครงการปฏิรูปธุรกิจทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมลดลงกว่า 40,000 ล้านบาท อาทิ ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลง 16,000 ล้านบาท ฝูงบิน 12,000 ล้านบาท สัญญาเช่าเครื่องบิน 6,800 ล้านบาท สัญญาเช่าซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 4,500 ล้านบาทการจัดซื้อ 1,100 ล้านบาท การปรับปรุงเทคนิคการบิน 719 ล้านบาท ปรับปรุงประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท

ส่วนพนักงานได้มีการปรับลดลงจาก29,500 คน ในเดือม.ค. 2563 เหลือ 14,900 คน และมีเป้าหมายคือเหลือ 14,000 คน ในเดือนธ.ค.2565 ตามสัญญาที่ทำไว้กับเจ้าหนี้ ทำให้ต้นทุนด้านบุคลากรลดลงจาก 2,450 ล้านบาทต่อเดือน ในเดือนม.ค. 2563 เหลือประมาณ 660 ล้านบาท ในเดือนพ.ย. 2564 และคาดว่าจะเหลือประมาณ 600 ล้านบาทต่อเดือน ในปี 2565 นี้

 

“คาร์โก้” คือฮีโร่สร้างรายได้

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ขณะที่รายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ หรือ cargo ที่เติบโต ต่อเนื่องนับตั้งแต่บริษัทเจอวิกฤตโควิด-19 โดยในเดือน เม.ย. 2563 รายได้ของคาร์โก้อยู่ที่ 229 ล้านบาทเพิ่มเป็น 1,751 ล้านบาท ในเดือน ธ.ค. 2564

“คาร์โก้คือฮีโร่ของเรา โดยตั้งแต่เดือน เม.ย. 63-ธ.ค. 64 การบินไทยมีรายได้จากธุรกิจคาร์โก้รวม 13,500 ล้านบาท จากการให้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำกว่า 800 เที่ยวบิน เครื่องบินขนส่งสินค้ากว่า 2,300 เที่ยว เที่ยวบินขนส่งวัคซีนกว่า 20 ล้านโดส รวมถึงให้บริการ cargo-in-cabin หรือขนส่งสินค้าภายในห้องผู้โดยสาร”

Test & Go ดันรายได้ผู้โดยสาร

เช่นเดียวกับรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารที่เริ่มเห็นแนวโน้มการเติบโตชัดเจน นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศนโยบายเปิดประเทศในรูปแบบภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เมื่อ 1 ก.ค. 2564 และเปิดประเทศในรูปแบบ Test & Go เมื่อ 1 พ.ย. 2564ที่ผ่านมา

กล่าวคือจากรายได้ในระดับเดือนละ 30-50 ล้านบาท ในช่วง เม.ย.-พ.ค. 2563 เพิ่มเป็น 160-180 ล้านบาท ในช่วง ก.ค.-ก.ย. 2564 และเพิ่มเป็น 1,264 ล้านบาท ในเดือน ธ.ค. 2564

นายชาญศิลป์กล่าวด้วยว่า จากตัวเลขดังกล่าวนี้ทำให้บริษัทเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ “รายได้รวม” อย่างชัดเจน จากที่เคยต่ำสุดแค่ 288 ล้านบาท ในเดือน เม.ย. 2563 เพิ่มเป็นหลัก 1,000 ล้านบาทได้ในเดือน ก.ค. 2564 (เปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์) และเพิ่มเป็น 2,024 ล้านบาทในเดือน พ.ย. 2564 (เปิด Test & Go) และ 3,015 ล้านบาท ในเดือน ธ.ค. 2564

“หากคำนวณตั้งแต่เริ่มต้นโควิดในช่วงต้นไตรมาส 2/2563 จนถึง ธ.ค. 2564รายได้รวมของการบินไทยเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว” นายชาญศิลป์กล่าว

เดือน ม.ค.-ก.พ. 2565 ตัวเลขรายได้รวมของการบินไทยปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าจะปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2565 นี้เป็นต้นไป โดยในอนาคตบริษัทจะพยายามวางโครงสร้างรายได้ระหว่างรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าให้มีสัดส่วน 50 : 50 จากเดิมรายได้จากผู้โดยสารมีสัดส่วนที่ประมาณ 70%

เพิ่มเที่ยวบินบุกซาอุฯ/อินเดีย

นายชาญศิลป์กล่าวต่อไปว่า การให้บริการเที่ยวบินโดยสารปัจจุบันการบินไทยยังคงโฟกัสตลาดในโซนยุโรปเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดที่ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางชัดเจน เช่น ลอนดอนแฟรงก์เฟิร์ต ซูริก โคเปนเฮเกน สตอกโฮล์ม ปารีส บาเซิล มิวนิก เป็นต้น

โดยปัจจุบันหลายเส้นทางเปิดให้บริการ 1 เที่ยวบินต่อวันแล้ว แต่บางส่วนยังไม่สามารถบินทุกวันได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่มีศักยภาพในช่วงตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย.นี้เป็นต้นไป

ขณะเดียวกันมีแผนเปิดตลาดใหม่เข้ามาเสริมอย่างต่อเนื่อง อาทิ อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เป็นต้น โดยตลาดที่จะพยายามเปิดให้ได้คือ ซาอุดีอาระเบีย ที่ตั้งเป้าเปิดดำเนินการภายในครึ่งปีแรก และอินเดียที่คาดว่าจะเปิดได้ในครึ่งหลังของปีนี้

ส่วนตลาดอื่น ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย การบินไทยจะทำการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน ซึ่งตามแผนดังกล่าวจะทำให้การบินไทยมีอัตราการใช้เครื่องบินประมาณ 70-80% ของที่มีอยู่จำนวน 61 ลำ

“ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินให้บริการอยู่จำนวน 58 ลำ และมีแผนรับมอบเครื่องใหม่ตามแผนเดิมอีก 3 ลำ ในช่วงไตรมาส 2 นี้ รวมเป็น 61 ลำ ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอสำหรับการใช้งานในช่วง 3 ปีนี้”

สภาพคล่องดีขึ้น-กู้ 2.5 หมื่นล้าน

นายชาญศิลป์กล่าวต่อไปอีกว่า ตามแผนดำเนินงานปรับลดค่าใช้จ่ายในทุกส่วนรวมถึงการหารายได้จากการทยอยขายทรัพย์สินรอง การขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวมถึงสินทรัพย์อื่น ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องดีขึ้น โดยมีกระแสเงินเข้ามาหมุนเวียนระดับหนึ่ง เมื่อบวกกับแผนการเพิ่มเส้นทางบินและเที่ยวบินขนส่งสินค้า ทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพการหารายได้มากขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย.นี้เป็นต้นไป บริษัทจะมีรายได้รวมเฉลี่ยที่ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือรายได้รวมในปีนี้ประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท

“ในภาวะปกติการบินไทยมีรายได้รวมกว่า 1 แสนล้านบาท แต่หลังจากนี้ไปอีก 2-3 ปี เราจะยังคงไม่เห็นตัวเลขรายได้ของการบินขยับแตะ 1 แสนล้านบาทได้ เนื่องจากเรากำหนดจำนวนเครื่องบินไว้ที่ 61 ลำเท่านั้น จากในอดีตเราใช้เครื่องบินประมาณ 100 ลำ”

นายชาญศิลป์กล่าวว่า จากศักยภาพในการหารายได้เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้บริษัทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอวงเงินกู้ 50,000 ล้านบาทตามแผนฟื้นฟู จึงได้ปรับลดวงเงินกู้เหลือเพียงแค่ 25,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน

ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงแห่งปี’65

นายชาญศิลป์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับธุรกิจสายการบินในปี 2565 มี 3 ปัจจัยหลัก คือ ราคาน้ำมันโลก สถานการณ์การเมือง และสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดโดยจากระดับราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 30-40% ของต้นทุนรวม จากปกติสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25-30% เท่านั้น

อย่างไรก็ตามยังมองว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

อ่านข่าวต้นฉบับ: การบินไทยโชว์สภาพคล่องฟื้น ลดแผนกู้เงินเหลือ 2.5 หมื่นล้าน



ปฏิกิริยาของคุณ?