เทคนิคป้อนข้าวให้ลูกน้อย
เทคนิคป้อนข้าวให้ลูกน้อย
การป้อนข้าวให้เจ้าตัวน้อยนั้นถือเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หนักใจเป็นที่สุดเลยใช่มั้ยค่ะ เพราะลูกน้อยในช่วงวัย 6 เดือนขึ้นไปนั้นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการในด้านการกิน


ภาพจาก : thaichildcare.com

การป้อนข้าวให้เจ้าตัวน้อยนั้นถือเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หนักใจเป็นที่สุดเลยใช่มั้ยค่ะ เพราะลูกน้อยในช่วงวัย 6 เดือนขึ้นไปนั้นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการในด้านการกิน จากช่วงแรกเกิดที่กินเฉพาะนมแม่มากินอาหารเสริม วันนี้เราเลยมีไอเดียในการป้อนข้าวให้เจ้าตัวเล็กมาฝากกันค่ะ

1. จากคำเล็ก ไปคำโต โต เริ่มจากการป้อนทีละนิดๆ คำเล็กๆ เพื่อให้ลูกได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อช่องปากในการบดอาหาร และการกลืน เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยก็ค่อยๆ เพิ่มปริมาณเป็นคำโตขึ้น และเพิ่มจำนวนครั้งในการป้อนมากขึ้น เช่น จาก 5-6 ช้อน เป็น 10-12 ช้อน ตามลำดับ ในระหว่างที่ลูกกิน พ่อแม่อาจจะทำท่าเคี้ยว หรือกินไปพร้อมๆ กับลูก เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกในเรื่องของการบดเคี้ยวอาหารได้

Tip: แม้ลูกจะยังเล็ก การที่พ่อแม่กิน หรือเคี้ยวให้ดู อย่าคิดว่าลูกไม่รู้เรื่องนะคะ ท่าทางต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นแบบอย่างและมีผลต่อพัฒนาการด้านการกินของลูกน้อยได้

2. บรรยากาศแห่งความสนุก จัดบรรยากาศการกินให้เป็นเรื่องสนุก ควรเป็นที่โล่ง เย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป ที่สำคัญไม่ควรมีทีวี เกม หรือของเล่นอยู่ในบริเวณที่กินข้าว เพราะอาจเบี่ยงเบนความสนใจของลูกได้ และไม่ควรคุยเรื่องเครียดๆ ขณะป้อนข้าวลูก

สำหรับลูกที่เริ่มนั่งได้แล้ว อาจให้นั่งบนเก้าอี้สำหรับเด็ก หรือเก้าอี้หัดนั่ง และกินข้าวร่วมกับพ่อแม่ โดยพ่อแม่คอยป้อนข้าวอยู่ข้างๆ และคอยพูดคุยหรือเล่านิทานเกี่ยวกับเรื่องการกินข้าวให้ฟังไปด้วยก็ได้ เพื่อสร้างสีสันในระหว่างการป้อนข้าว

Tip: การกินอาหารร่วมกับพ่อแม่จะช่วยฝึกเรื่องการกินข้าวเองในอนาคต เพราะลูกจะคอยมอง และสังเกตมารยาทบนโต๊ะว่าเป็นอย่างไร ลูกจะนำมาเป็นแบบอย่างได้

ภาพจาก : thaichildcare.com

3. ซ่อนผักใบเขียว ถ้าเริ่มอาหารใหม่ๆ ที่ลูกไม่เคยกินมาก่อน เช่น ผักชนิดใหม่ ช่วงแรกอยากให้ใช้วิธีแทรกเข้าไปในอาหารที่ลูกคุ้นเคยก่อนสักระยะหนึ่ง เช่น หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หรือใส่สีถนอมอาหารที่ปลอดภัย เป็นต้น เมื่อลูกเกิดความเคยชินกับอาหารนั้น แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น

Tip: ครั้งแรกที่ป้อน ถ้าลูกไม่กินเลย ถึงขั้นร้องงอแง อย่าท้อจนไม่ให้ลูกกินอีกเลย ให้ลองสัก 3-4 วัน แล้วลูกจะค่อยๆ เริ่มชิน จนในที่สุดเริ่มกินได้เอง เมื่อเขาโตขึ้นเขาก็จะเป็นเด็กที่กินผักได้

4. ใส่ถ้วยน้องหมี ภาชนะที่มีลวดลายการ์ตูนสวยๆ ที่เด็กๆ ชอบ หรือมีสันสดใส ก็ช่วยดึงดูดใจเรื่องการกินของลูกได้เยอะ และให้เขาได้เลือกภาชนะใส่อาหารเองว่าวันนี้จะใช้ถ้วยลายไหน คราวนี้ต้องรีบให้คุณแม่ป้อนข้าวให้แหงๆ แต่ควรคำนึงถึงความปลอดภัย ภาชนะที่ใช้ควรทำจากวัสดุที่ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน และไม่แตกง่ายด้วย

Tip: ลองเปลี่ยนจากถ้วยชามพลาสติก มาเป็นถ้วยขนมปัง หรือฟักทอง มะเขือเทศดูบ้างที่เด็กๆ สามารถกินตัวภาชนะได้ด้วย ก็จะช่วยดึงดูดความสนใจเรื่องการกินได้มากขึ้น

5. เล่นทายซิ อะไรอยู่ในถ้วยจัดลักษณะอาหารเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น นำข้าวใส่รูปพิมพ์เป็นรูปหมี รูปดาว รูปหัวใจ และคุณแม่อาจจะเล่าเรื่องราวประกอบ ให้กินหู กินจมูก กินดาวเลย จะทำให้ลูกเกิดความสนใจ หรือจิ้มกินเองได้

Tip: อาจทำเป็นอาหารที่สามารถหยิบกินเป็นชิ้นๆ หรือเป็นคำๆ ได้ โดยให้มีรูปแบบเป็นตัวการ์ตูนน่ารักๆ ก็จะช่วยให้มื้อนั้นเป็นมื้อที่อร่อยของเจ้าตัวเล็กอีกหนึ่งมื้อเลย

ภาพจาก : mamaexpert.com

6. ช่วยทำอาหาร อยากกินจัง เด็กช่วงวัยขวบปีแรก ถึงแม้เขาจะยังหยิบจับอะไรได้ไม่มากนัก แต่การมีส่วนร่วมในการเข้าครัวมาดูมาฟังการทำอาหาร เวลาที่คุณแม่ทำอาหาร แล้วก็เล่าวิธีการทำให้ลูกฟังไปด้วย ลูกจะเกิดการเรียนรู้เรื่องของการกินได้ไม่ยากเลย

Tip: สำหรับลูกน้อยที่เริ่มหยิบจับได้แล้ว ลองให้ช่วยทำอาหารง่ายๆ เช่น ทาแยมบนขนมปังหน้าตุ๊กตา โดยคุณแม่ช่วยจับมือทา แล้วลองให้เขาทำเอง เสร็จแล้วก็กินด้วยกัน

7. อย่าบังคับหนูกินนะ สำหรับเด็กที่เริ่มกินอาหารเสริม และมีพัฒนาการการกินที่ดีขึ้นจากช่วงแรกกิน 2-3 คำก็เป็น 5-6 คำ จนถึงครึ่งถ้วย อย่างนี้ต้องชื่นชมลูก สิ่งสำคัญถ้าลูกกินได้ไม่กี่คำแล้วไม่กินต่อ อย่าตำหนิ อย่าดุ หรือคะยั้นคะยอให้กินจนหมดถ้วย และไม่ควรบังคับลูก เพราะอาจกลายเป็นความทรงจำที่เลวร้าย ส่งผลให้เป็นคนกินยากได้

Tip: การบังคับเรื่องการกิน ลูกอาจจะเกิดความรู้สึกอยากเอาชนะ คราวหน้าเรื่องกินก็จะกลายเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงควรเริ่มทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณ หรือสังเกตว่าพอหมดแค่นี้ แล้วลูกมีท่าทีอยากจะกินอีก ก็ค่อยเพิ่มปริมาณ

เป็นยังไงกันบ้างคะ กับเคล็ดลับการป้อนข้าวลูกที่เรานำมาฝากกัน ไม่ยากอย่างที่คิดเลยนะคะ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความพยายาม ต้องใจเย็นและใส่ใจกับเจ้าตัวเล็กให้มากๆ นะคะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร Momypedia 



ปฏิกิริยาของคุณ?