มุมมอง
สมุนไพร สะเดา ชื่อสามัญ Neem, Neem Tree, Nim, Margosa, Quinine, Holy tree, Indian Margosa Tree, Pride of china, Siamese Neem Tree
สมุนไพร สะเดา ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A. Juss. Var. Siamensis Valeton จัดอยู่ในวงศ์ MELIACEAE เช่นเดียวกับกระท้อน กัดลิ้น ตะบูนขาว ตะบูนดำ และลองกอง
สมุนไพรสะเดา มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า สะเดา สะเดาบ้าน (ภาคกลาง), สะเลียม (ภาคเหนือ), เดา กระเดา กะเดา (ภาคใต้), จะดัง จะตัง (ส่วย), ผักสะเลม (ไทลื้อ), ลำต๋าว (ลั้วะ), สะเรียม (ขมุ), ตะหม่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ควินิน (ทั่วไป), สะเดาอินเดีย (กรุงเทพฯ), กาเดา, เดา, ไม้เดา เป็นต้น โดยสามารถพบขึ้นได้ทั่วไปตามป่าแล้งในประเทอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ปากีสถาน ศรีลังกา และประเทศไทย สำหรับในประเทศไทยจะมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ตามธรรมชาติตามป่าเบญจพรรณแล้งและป่าแดงทั่วประเทศ
ลักษณะของสะเดา
ต้นสะเดา เป็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบตลอดปี มีรากที่แข็งแรงกว้างขวางและหยั่งลึก เปลือกของลำต้นค่อนข้างหนา มีสีน้ำตาลเทาหรือสีเทาปนดำ ผิวเปลือกแตกเป็นร่องตื้นๆ หรือเป็นสะเก็ดยาวๆ เยื้อสลับกันไปตามความยาวของละต้น ส่วนเปลือกของกิ่งมีลักษณะค่อนข้างเรียบ และเนื้อไม้มีสีแดงเข้มปนสีน้ำตาล เสี้ยนค่อนข้างสับสนเป็นริ้วๆ แคบ เนื้อหยาบ เป็นมันเลื่อม มีความแข็งแรงทนทาน ส่วนแกนไม้มีสีน้ำตาลแดง มีความแข็งแรงและทนทานมาก
ใบสะเดา ใบมีสีเขียวเข้มหนาทึบ เมื่ออ่อนมีสีแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ยาวประมาณ 15-35 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 4-7 คู่ ใบย่อยติดตรงข้ามหรือกิ่งตรงข้าม ลักษณะใบเป็นรูปใบหอกกึ่งรูปเคียวโค้ง กว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยวเห็นชัดเจน ส่วนปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ค่อยข้างเกลี้ยง มีเส้นใบอยู่ประมาณ 15 คู่ ก้านใบย่อยยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ใบที่อยู่ปลายช่อจะใหญ่สุด ส่วนก้านใบยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ผิวก้านค่อนข้างเกลี้ยง มีต่อม 1 คู่ที่โคนก้านใบ ในพื้นที่แล้งจัด ต้นจะทิ้งใบเฉพาะส่วนล่างๆ ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และใบใหม่จะผลิขึ้นมาในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งช่วงนี้ต้นสะเดาจะแทงยอดอ่อนพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
ดอกสะเดา ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ตามง่ามใบหรือตามมุมที่ร่วงหลุดไปและที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเทา ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ แกนกลางของช่อมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ลักษณะค่อนข้างเกลี้ยง แตกกิ่งกางออกเป็น 2-3 ชั้น ที่ปลายเป็นช่อกระจุกอยู่ 1-3 ดอก มีขนคล้ายไหม มีใบประดับและใบประดับย่อยเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีขนนุ่มและสั้น ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้นเช่นกัน ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปทรงแจกัน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายเป็นพู 5 พูกลม พูซ้อนเหลื่อมกัน กลีบดอกมี 5 กลีบ แยกออกจากกัน ลักษณะเป็นรูปช้อนแคบ ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้นขึ้นทั้งสองด้าน ท่อเกสรตัวผู้เกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม มีสัน 10 สัน ขอบบนเป็นพูกลม 10 พู มีอับเรณู 10 อัน ยาวประมาณ 0.8 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปรีแคบ ส่วนรังไข่เกลี้ยงหรือมีขนนุ่มสั้น มักจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม (ในช่อดอกมีสารจำพวกไกลโคไซด์ Nimbasterin 0.005% และมีน้ำมันหอมระเหยที่มีรสเผ็ดจัดอยู่ 0.5% นอกจากนี้ยังพบว่ามีสาร Nimbecetin, Nimbesterol, กรดไขมัน
ผลสะเดา ลักษณะของผลจะคล้ายผลองุ่น ผลมีลักษณะกลมรี ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนาดยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว มีรสหวานเล็กน้อย ผลจะสุกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายนขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสุกเร็วกว่าภาคกลาง เป็นต้น (ผลมีสารขมที่ชื่อว่า Bakayanin)
เมล็ดสะเดา เมล็ดมีลักษณะกลมรี ผิวเมล็ดค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาวสีเหลืองซีดหรือเป็นสีน้ำตาล ในน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ดประมาณ 4,000 เมล็ด ซึ่งในเมล็ดจะมีน้ำมันอยู่ประมาณ 45% (ในเมล็ดมีน้ำมันขม Margosic acid 45% หรือเรียกว่า Nim Oil และมีสารขม Nimbin)
สรรพคุณของสะเดา
- สมุนไพรสะเดา ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก,ใบ,ผล)
- ช่วยบำรุงธาตุไฟ ขับน้ำย่อยอาหารทำให้กระเพาะย่อยอาหารได้ดีขึ้น (ใบ,แก่น)
- ช่วยบำรุงโลหิต (ใบ,แก่น)
- น้ำตาลที่ได้จากการหมักน้ำจากลำต้น มีแร่ธาตุ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ลำต้น)
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา โดยพบว่าผู้ที่รับประทานยอดสะเดาตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุ 90 กว่า สายตายังดีมาก (ยอดอ่อน)
- ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร ด้วยการใช้ช่อดอกนำมาลวกน้ำร้อน จิ้มน้ำปลาหวานหรือน้ำพริก หรือจะใช้เปลือกสดประมาณ 1 ฝ่ามือ นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว (ผลอ่อน,ลำต้น,เปลือกต้น,เปลือกราก,ราก,ใบอ่อน,ดอก)
- ช่วยแก้กษัย หรือโรคซูบผอม ผอมแห้งแรงน้อย (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเอดส์ เนื่องจากการรับประทานใบสะเดาเป็นอาหารจะช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดอาการเบื่ออาหารหรือกินอาหารได้น้อย แล้วทำให้ซูบผอมจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน (ใบ)
- ช่วยลดความเครียด โดยมีผลการทดลองในหนู ระหว่างกลุ่มที่ได้รับน้ำใบสะเดาคั้นและกลุ่มที่รับยา Diazepam (valium) ซึ่งเป็นยาลดความกังวล ผลการทดลองพบว่าสะเดาส่งผลได้ดีเท่ากับหรือดีกว่ายา diazepam (valium) (ใบ)
- ช่วยทำให้นอนหลับสบาย หรือหากนอนไม่หลับ ให้ใช้ใบและก้านสะเดาประมาณ 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยา แล้วต้มให้เดือดนาน 5-10 นาที ใช้กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 เวลา (ใบ,ก้านใบ)
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกและมะเร็ง เนื่องจากในเปลือก ใบ และผลของสะเดา มีสาร Polysaccharides และ Limonoids ที่ช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว โดยไม่ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกาย (ใบ,เปลือก,ผล)
- ช่วยแก้โรคหัวใจ หัวใจเดินผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ แก้ลมหทัยวาต หรือลมที่เกิดในหัวใจ (ผล)
ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต