มุมมอง
สมุนไพร แว่นแก้ว ภาษาอังกฤษ Water Pennywort
สมุนไพร แว่นแก้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrocotyle umbellata L. จัดอยู่ในวงศ์ APIACEAE หรือวงศ์ UMBELLIFERAE เช่นเดียวกับแครอท ขึ้นฉ่าย ผักชีฝรั่ง ผักชีล้อม ผักชีลาว บัวบก และตังกุย
ผักแว่นแก้ว มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า บัวแก้ว ผักหนอก ผักหนอกใหญ่ ผักหนอกเทศ เป็นต้น
ลักษณะของแว่นแก้ว
ต้นแว่นแก้ว เดิมทีแล้วมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ปัจจุบันได้แพร่กระจายไปทั่วในประเทศเขตร้อน ในประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคกลาง โดยจัดเป็นพืชล้มลุกริมน้ำหรือโผล่เหนือน้ำ มีลักษณะคล้ายบัวบก เป็นพืชที่มีอายุยาวหลายปี ลำต้นเป็นไหลกลมยาวเรียว มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นและแตกรากและใบตามข้อ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เซนติเมตร มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ เป็นกลุ่มๆ เจริญเติบโตได้เร็วและชอบแสงแดด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการแยกต้นอ่อน
ใบแว่นแก้ว ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะกลม ก้านใบยาวยาวเรียวติดกับตัวใบที่บริเวณกลางใบ ใบมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวสด ขอบใบเป็นหยักเว้าตื้นและกว้าง ผิวใบด้านบนเรียบและเป็นมัน
ดอกแว่นแก้ว ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ลักษณะเป็นช่อแบบซี่ร่มตามซอกโคนใบ ก้านช่อดอกยาว ดอกย่อยจะแตกจากก้านช่อ ดอกจะออกเป็นกระจุก ช่อละ 2-3 กระจุก ในแต่ละกระจุกจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 12-15 ดอก โดยดอกย่อยมีขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ และมีเกสรตัวผู้อยู่ 5 อัน
ผลแว่นแก้ว ผลเป็นผลแห้งแก่แล้วแตกเป็น 2 ซีก ในแต่ละซีกจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด และเมล็ดมีขนาดเล็ก
สรรพคุณผักแว่นแก้ว
- แว่นแก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษไข้ (ทั้งต้น)
- ใบนำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการช้ำในได้ (ใบ,ทั้งต้น)
- ทั้งต้นแว่นแก้ว สรรพคุณใช้แก้อาการตาแดง (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ทั้งต้น)
- ช่วยในการขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)
- ใช้เป็นยาแก้บวม (ทั้งต้น)
ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต