ลาน สรรพคุณและประโยชน์
ลาน  สรรพคุณและประโยชน์
ต้นลาน เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่จะอยู่ในตระกูลปาล์ม มีถิ่นมีกำเนิดอยู่ในอเมริกาและในแถบเมดิเตอร์เรเนียน โดยส่วนใหญ่แล้วต้นลานมักจะขึ้นที่ที่มีอากาศชื้นเย็นและมีฝนตกมาก


สมุนไพร ลาน

สมุนไพร ลาน ภาษาอังกฤษ Fan palm, Lontar palm, Talipot palm

สมุนไพร ลาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Corypha Umbraculifera L. จัดอยู่ในวงศ์ ARECACEAE หรือในชื่อเดิมคือ PALMAE เช่นเดียวกับตาล ตาว จาก หวาย และมะพร้าว

สมุนไพรลาน มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ลานบ้าน ลานวัด ลานหมื่นเถิดเทิง ปาล์มพัด เป็นต้น

ต้นลาน เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่จะอยู่ในตระกูลปาล์ม มีถิ่นมีกำเนิดอยู่ในอเมริกาและในแถบเมดิเตอร์เรเนียน โดยส่วนใหญ่แล้วต้นลานมักจะขึ้นที่ที่มีอากาศชื้นเย็นและมีฝนตกมาก มีความทนทานต่อภัยธรรมชาติได้ดี ต้นเล็กแม้ว่าจะถูกไฟไม้แต่ก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เนื่องจากมีรากที่ลึกมาก โดยพรรณไม้ในสกุลลานจะมีอยู่ด้วย 6 ชนิดทั่วโลก แต่สำหรับในประเทศไทยจะพบต้นลานเพียงแค่ 3 ชนิดเท่านั้น ได้แก่

ลานพรุ (gehang palm, ebang Palm) ต้นลานพรุ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha utan Lam. มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงฟิลิปปินส์ และรวมไปถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลียและประเทศไทย พบได้มากในแถบภาคใต้แถวๆ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่และพังงา ปาล์มชนิดนี้มักขึ้นตามแนวชายฝั่งแม่น้ำหรือในพื้นที่ที่ชุ่มน้ำ มีลักษณะของลำต้นที่สูงคล้ายกับต้นตาล โดยมีความสูงประมาณ 30 เมตร ขนาดของลำต้นไม่รวมกาบใบมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40-60 เซนติเมตร และมักขึ้นรวมกันเป็นจำนวนมากในที่ราบท้องทุ่ง แม้ในบริเวณที่มีน้ำขัง
ลานป่า หรือ ลานทุ่ง (Indochinese fan palm) ต้นลานป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha lecomtei Beec. สามารถพบได้ในประเทศไทยและเวียดนาม จัดเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของไทย โดยพบได้มากที่ปราจีนบุรี ขอนแก่น และสระบุรี และยังพบได้ทั่วไปในจังหวัดลพบุรี ตาก นครปฐม และพิษณุโลก และต้นลานป่านี้จะมีขนาดใหญ่ไม่เท่าลานวัด โดยมีความสูงประมาณ 15 เมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นไม่รวบกาบใบประมาณ 45-75 เซนติเมตร
ลานวัด หรือ ลานบ้าน หรือ ลานหมื่นเถิดเทิง (ทั่วไปเรียกว่า "ลาน" หรือ "ต้นลาน") (Fan palm, Lontar palm, Talipot palm) ต้นลานวัด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corepha umbraculifera เป็นปาล์มชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกาและอินเดีย และยังเป็นต้นไม้ประจำชาติของศรีลังกาอีกด้วย สำหรับในประเทศจะไม่พบตามธรรมชาติ แต่มักมีการนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือ

ลักษณะของต้นลานวัด

ต้นลาน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีลำต้นตรงและแข็ง เป็นไม้ต้นเดี่ยวไม่แตกหน่อหรือกอ ส่วนเนื้อไม้เป็นเส้นใย ไม่มีกิ่ง ลำต้นมีกาบใบติดคงทนเรียงเวียนอยู่โดยรอบ และมีหนามคล้ายฟันเลื่อยสั้นๆ อยู่ทั้งสองข้างริมขอบก้านใบ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร ต้นลานเมื่อแก่แล้วหรือมีอายุราว 20-80 ปี เมื่ออายุ 20-30 ปี ลำต้นจะมีความสูงถึง 25 เมตร ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนต้นลานจะออกดอกและผล ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตช่วงสุดท้ายของต้นลาน โดยผลเมื่อแก่แล้วจะร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน เมล็ดในผลจะงอกเป็นต้นลานขึ้นมาใหม่มากมาย

ใบลาน ใบมีขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายรูปฝ่ามือหรือรูปพัด ค่อนข้างกลมคล้ายกับใบตาล จนบางครั้งอาจเรียกว่า "ปาล์มพัด" ใบมีสีเขียวอมเทา แผ่นใบมีขนาดประมาณ 2.5-3×2.5-3 เมตร ส่วนก้านใบออกสีเขียวอ้วนสั้น ยาวประมาณ 2.5-3 เมตร และขอบก้านใบมีหนามแน่นเป็นฟันคมสีดำยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีเส้นโค้งกลางใบยาวประมาณ 1 เมตร แผ่นใบหยักเป็นคลื่น มีร่องแฉกแยกแผ่นใบ 110 แฉก แต่ละแฉกมีขนาดประมาณ 75-150×4.6-5 เซนติเมตร (เป็นพันธุ์ไม้ที่มีใบใหญ่ที่สุดในโลก) เป็นไม้ทิ้งใบได้เองตามธรรมชาติ

ดอกลาน หรือ ดอกต้นลาน ออกดอกเป็นช่อใหญ่คล้ายรูปพีระมิดตรงส่วนยอดของลำต้น มีความยาวประมาณ 6 เมตร ก้านชูช่อดอกสั้นหรือไม่มี ส่วนแกนช่อดอกยาวประมาณ 6 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 35 เซนติเมตร โดยแกนช่อดอกจะมีถึง 30 ก้าน แขนงของก้านช่อดอกย่อยมีถึง 40 ก้าน ในแต่ละก้านจะยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร ในช่อดอกหนึ่งจะมีดอกลานอยู่เป็นจำนวนมากเป็นล้านๆ ดอก โดยดอกจะมีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม (บ้างก็ว่าดอกมีสีขาวครีม) นับตั้งแต่เมื่อเริ่มออกช่อดอกและบานกลายเป็นผลสำหรับรับประทาน จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีขึ้นไป

ผลลาน หรือ ลูกลาน หรือ ลูกต้นลาน ผลมีลักษณะกลมรี มีสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร หนึ่งผลมีหนึ่งเมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำ ส่วนเนื้อในของผลจะคล้ายกับลูกจากหรือลูกชิด สามารถนำมารับประทานได้ ผลเมื่อแก่แล้วจะร่วงหล่นลงพื้นดิน แล้วจะงอกเป็นต้นลานเล็กๆ มากมาย ส่วนเนื้อของลูกลานจะคล้ายกับลูกชิดแต่จะมีลักษณกลม มีรสชาติจืดและเหนียวหนืด

สรรพคุณของลาน

  1. ช่วยรักษาไข้หวัด ด้วยการใช้รากนำมาฝนแล้วรับประทาน (ราก)
  2. รากนำมาฝนใช้รับประทานเป็นยาแก้ร้อนใน และช่วยขับเหงื่อ (ราก)
  3. สรรพคุณของลูกลาน ใช้รับประทานเป็นยารักษาโรคกระเพาะ ช่วยฆ่าเชื้อในลำไส้ และช่วยระบาย (ลูกลาน)
  4. เปลือกของผลสามารถรับประทานเป็นยาขับระบายได้ดี (เปลือกผล)
  5. ต้นลาน สรรพคุณช่วยแก้พิษต่างๆ (ต้น)
  6. บางแห่งมีการนำใบลานเผาไฟมาใช้เป็นยาเพื่อช่วยดับพิษอักเสบ แก้อาการฟกช้ำบวมได้ดี ซึ่งโดยทั่วไปจะเรียกว่า "ยามหานิล" (ใบแก่)

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?