มุมมอง
ผลิตภัณฑืดีท็อกซ์นั้นมีอยู่มากมาย ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยขับสารพิษต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย รวมทั้งไขมันด้วย ซึ่งส่งผลให้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้หญิงที่รักสุขภาพทั้งหลาย แต่ยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์แน่ชัดว่าผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาอยู่อย่างกว้างขวางนั้นสามารถล้างพิษได้จริงหรือไม่
Sense About Science กลุ่มการกุศลในอังกฤษวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ 15 อย่างที่อ้างว่าล้างพิษในร่างกายได้ มีตั้งแต่น้ำดื่มไปจนถึงผงขัดหน้าพบว่าเป็นการอ้างที่ไร้มูลโดยสิ้นเชิง พร้อมแนะนำผู้ที่ต้องการล้างพิษจากการตามใจปากมากเกินไปในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ให้รับประทานอาหารมีประโยชน์และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ทางกลุ่มเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ล้างพิษหาหลักฐานพิสูจน์ข้ออ้าง เพราะพบว่าแต่ละบริษัทมีนิยามของคำว่าล้างพิษไม่เหมือนกันเลยแม้แต่แห่งเดียว ขณะที่พจนานุกรมอังกฤษออกซ์ฟอร์ดให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นการนำสารพิษหรือสิ่งที่มีคุณสมบัติเป็นพิษออกจากร่างกายผู้ผลิตและผู้ค้าหลายรายยอมรับว่า นำคำว่า "ล้างพิษ" มาใช้แทนคำว่า "ชำระล้าง" หรือ "ขัด" ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์
นักวิจัยชี้ว่า หากผู้บริโภครับประทานอาหารเป็นประโยชน์ตามที่ผลิตภัณฑ์ล้างพิษแนะนำไว้ ย่อมทำให้รู้สึกดีขึ้นทั้งที่ไม่ได้เป็นผลจากผลิตภัณฑ์เลยแม้แต่น้อย กรณีโชคร้ายที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์ล้างพิษบางอย่างอาจทำให้เกิดอันตรายตามมา ส่วนกรณีโชคดีที่สุดคือเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ด้านสำนักงานมาตรฐานการโฆษณาของอังกฤษเผยว่า จะตรวจสอบเป็นรายๆ ไปหากมีการร้องเรียนเข้ามา.
ขอขอบคุณ ที่มา : ไทยโพสต์