มุมมอง
คุณทราบหรือไม่คะว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตภาชนะหุงต้มอาจปนเปื้อนออกมาในอาหารที่เราปรุงเป็นประจำทุกวัน และอาจก่ออันตรายให้กับร่างกายได้ มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง
ภาชนะจากอลูมิเนียม ก่อนหน้านี้มีความเชื่อว่าอาจก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ จนทำให้คุณแม่บ้านหลายครัวเรือนพากันโยนหม้อแบบนี้ทิ้ง แต่ว่าข้อมูลการวิจัยในปัจจุบันพบว่าอะลูมิเนียมที่ละลายออกมาปนในอาหารมีปริมาณเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นการใช้ภาชนะอะลูมิเนียมหุงต้มอาหารจึงค่อนข้างปลอดภัย
ภาชนะจากสเตนเลส สเตนเลสมีส่วนผสมของโลหะหลายชนิด เช่น นิกเกิล โครเมียม เหล็ก และโมลิบเดนัม จากการวิจัยพบว่าภาชนะเครื่องครัวที่ทำจากสเตนเลสอาจให้ประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะโครเมียมและธาตุเหล็กแป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เมื่อนำมาใช้หุงต้มก็จะมีธาตุเหล่านั้นออกมาปะปนในอาหารเพียงเล็กน้อยจึงไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันสารนิกเกิลอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการของผิวหนังได้ในผู้ที่แพ้นิกเกิล อย่างไรก็ตามนิกเกิลจะละลายออกมาในอาหารที่เครื่องปรุงมีฤทธิ์เป็นกรด ดังนั้นอาจจะเลือกใช้ภาชนะสเตนเลสที่เคลือบสารอีนาเมล ซึ่งเป็นสารเคมีที่ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยากับอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดได้
ภาชนะจากทองแดง เป็นภาชนะที่ตอบสนองต่อความร้อนได้ดี แต่ว่าทองแดงจะละลายออกมาได้หากสัมผัสกับอาหารที่มีฤททธิ์เป็นกรด ซึ่งหากได้รับในปริมาณเล็กน้อย ก็ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่ถ้าได้รับสะสมมากเกินไปที่ร่างกายต้องการอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียนจากอาการทองแดงเป็นพิษได้ ดังนั้นจึงควรเลือกแบบที่เคลือบดีบุกเอาไว้ แต่ดีบุกก็จะเสื่อมไปตามอายุการใช้งานเมื่อใช้ไปได้ระยะหนึ่งก็ควรเปลี่ยนใหม่
ภาชนะเซรามิก ภาชนะเซรามิกมีส่วนผสมของสารตะกั่วอยู่ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาประกอบอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด และห้ามใช้กับกาแฟร้อน ชาร้อน ซุปมะเขือเทศ และน้ำผลไม้เพราะจะทำให้ตะกั่วละลายออกมาได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ภาชนะที่เคลือบสารเทฟลอน สารชนิดนี้ช่วยให้อาหารไม่ติดกระทะลดการใช้น้ำมันในการปรุงอาหารและทำความสะอาดได้ง่าย อีกทั้งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ถึงแม้จะละลายปะปนมากับอาหาร เนื่องจากเป็นสารที่ไม่มีพิษ ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้และจะถูกกำจัดออกไปได้
ขอขอบคุณ นิตยสารเรื่องผู้หญิง