มุมมอง
ปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเป็นโรคที่เกี่ยวกับอายุมากขึ้น "ต้อหิน" เป็นหนึ่งในโรคที่เกี่ยวข้องกับอายุโดยคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหิน 6-7 เท่าของคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
จากการสำรวจพบปัจจุบัน คนไทยเป็นโรคต้อหิน และโรคตาบอดที่เกิดจากต้อหินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ใหญ่มาก แต่ไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจกันมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่มักคิดว่า พออายุเยอะแล้วตาจะต้องมีปัญหา
นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคต้อหิน 9 ใน 10 ราย มักไม่มีอาการ ทำให้กว่าที่จะรู้ตัวและไปพบแพทย์ ประสาทตาก็ถูกทำลายไปแล้ว ทำให้ "ต้อหิน" เป็นสาเหตุนำไปสู่ตาบอดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย
รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ ประธานชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ในประเทศไทยมีการสำรวจทั้งในเขตกทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทั่วประเทศ 3-4 ครั้ง พบผู้ป่วยมากกว่า 80% ที่ตรวจพบว่าเป็นต้อหิน โดยผู้ป่วยดังกล่าวไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเป็นต้อหิน ที่ญี่ปุ่นเองก็เคยมีการสำรวจพบว่า 80-90% ไม่เคยรู้ตัวว่าเป็นต้อหิน จนกระทั่งมีการสำรวจเพราะมันเป็นธรรมชาติของโรค คนส่วนใหญ่มักเป็นแล้วถึงค่อยมารู้ตัว จนถึงกับมีคำกล่าวว่าต้อหินเป็นเหมือนกับแมวขโมยสายตา"
7 กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคต้อหินได้มากกว่าคนปกติ ได้แก่
1. ผู้สูงอายุ ต้อหินสามารถเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี
2. มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน เสี่ยงที่จะเป็นต้อหินมากกว่าปกติ 3-5 เท่า และถ้ามีพี่น้องเป็นต้อหินจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงสูงขึ้นเป็น 5-7 เท่า
3. สายตาสั้นมากหรือยาวมาก
4. พวกที่ชอบซื้อยาหยอดตามาใช้เอง โดยเฉพาะยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ แม้จะเป็นเด็กก็มีโอกาสเป็นต้อหินได้ แถมยังเป็นได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ด้วย
5. มีโรคจำเพาะของลูกตา
6. เกิดจากอุบัติเหตุ
7. มีโรคทางร่างกาย เช่น เบาหวาน ความดันต่ำ โรคนอนกรนจนขาดออกซิเจนในตอนกลางคืน โรคไมเกรน เป็นต้น
ต้อหินมี 3 ประเภท ได้แก่ ต้อหินมุมเปิด ต้อหินมุมปิด และต้อหินในเด็ก ซึ่งมีลักษณะเฉพาะพบได้ตั้งแต่แรกเกิด ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินสูงกว่าผู้ชาย 3 เท่า ต้อหินเป็นโรคเรื้อรัง มักไม่ค่อยมีอาการบางรายอาจมีอาการตามัวบ้าง แต่ส่วนใหญ่สามารถอ่านหนังสือ ดูทีวีได้เป็นปกติ เนื่องจากต้อหินเป็นการสูญเสียการมองเห็นเริ่มจากด้านข้างแคบเข้ามาจนถึงข้างหน้า จนกระทั่งตาบอดในที่สุด
วิธีการสังเกต ให้ปิดตาทีละข้างเพื่อเปรียบเทียบการมองเห็นดูว่าตาทั้งสองข้าง เห็นชัดเจนและเห็นได้กว้างเท่ากันหรือไม่
แม้จะขึ้นชื่อว่าต้อเหมือนกัน แต่ต้อกระจกสามารถผ่าตัดเปลี่ยนประสาทตาได้ ส่วนต้อหินถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา ประสาทตาจะเสื่อมไปเรื่อยๆ ส่วนที่เสียไปแล้วก็จะไม่สามารถทำการรักษาให้ดีเหมือนเดิม และไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนประสาทตาได้เหมือนต้อกระจก สุดท้ายอาจทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้
แต่ถ้าตรวจพบได้ไว ก็สามารถทำการรักษาเพื่อไม่ให้ตาบอดได้ โดยการรักษามีทั้งการใช้ยา การยิงเลเซอร์ และการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคที่เป็น อุปสรรคที่สำคัญของการรักษาโรคต้อหินด้วยการใช้ยา ก็คือ ผู้ป่วยไม่หยอดยาต่อเนื่อง เนื่องจากต้อหินเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องติดตามการรักษาแบบต่อเนื่อง ต้องใช้ยาตามแพทย์สั่ง จากการสำรวจพบว่าเกินครึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับยามักไม่ยอมหยอดยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง
หลังทำการรักษา ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาเป็นต้อหินได้อีกยกเว้น ต้อหินมุมปิดที่ตรวจพบตั้งแต่เริ่มแรก อาจทำการรักษาให้หายได้ ดังนั้นการตรวจตาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
ขอขอบคุณ หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์