กินอาหารดิบเสี่ยงโรคมะเร็งตับ
กินอาหารดิบเสี่ยงโรคมะเร็งตับ
พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มอัตราเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร


พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มอัตราเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เราไปติดตามพร้อมกันค่ะ

โรคมะเร็งตับของประเทศไทย พบในชาย 80 คน และหญิง 40 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ประเทศแถบตะวันตกพบเพียง 1 คน ต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น ทำให้ไทยมีสถิติเป็นมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีมากที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุหลักของโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีที่คนไทยเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นกันมาก เนื่องมาจากพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นพยาธิที่มีอยู่ในปลาน้ำจืดมีเกล็ด เช่น ปลาตะเพียนทราย ปลาสร้อยนกเขา ปลาสูตร และปลากะมัง รวมถึงสารไนโตรซามีนที่ไม่ควรเกิน 125 มิลลิกรัมต่อเนื้อ 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่พบในอาหารพวกโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม ฯลฯ และอาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น กุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเค็ม และปลาเค็ม ทั้งนี้เนื่องจากว่าพฤติกรรมการบริโภคของชาวบ้านในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เชื่อกันว่าใช้ความเปรี้ยวจากน้ำมะนาว และไข่มดแดงทำให้อาหารสุกนั้น เป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคโดยไม่รู้ตัว

สำหรับอาการของผู้ป่วยมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีนั้น อาการจะเริ่มต้นด้วยอาการเบื่ออาหาร แน่นท้อง ท้องผูก อ่อนเพลีย น้ำหนักลด และมีไข้ต่ำๆ ปวดหรือเสียดชายโครงด้านขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งในระยะเบื้องต้นจะทำการตรวจพบได้ยาก ส่วนใหญ่จะตรวจพบในระยะสุดท้ายแล้ว ซึ่งการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายคงต้องเจาะท่อเพื่อระบายน้ำดีออกทางช่องท้องและการรักษายังคงเป็นเพียงให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

รู้แบบนี้แล้วก็ลองเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคที่ผิดๆ ซะที หันมากินอาหารที่ดี มีประโยชน์ และปรุงสุกใหม่ๆ แทนการกินแบบสุกๆ ดิบๆ ดีกว่าค่ะ จะได้ห่างไกลโรคภัยต่างๆ และที่สำคัญก็ต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำด้วยนะคะ

ขอขอบคุณ นิตยสารเรื่องผู้หญิง ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?