
มุมมอง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงที่เป็นพื้นที่อับอากาศ ควรตรวจสอบ 8 ข้อปฏิบัติสำคัญก่อนปฏิบัติงาน เพื่อความปลอดภัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีข่าวการเสียชีวิตของช่างรับเหมาประจำคอนโดลงไปปฏิบัติงานในบ่อพักน้ำเสีย ถึงแม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัดว่ามีสาเหตุจากการถูกไฟฟ้าช็อต หรือจากกรณีไม่มีอากาศหายใจในบ่อน้ำเสีย นั้น แต่ในเชิงการทำงานในพื้นที่เสี่ยงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสุขภาพ และสุขอนามัยเป็นสำคัญ โดยในกรณีที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงที่เป็นพื้นที่อับอากาศ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตอย่างมาก
ผู้ปฏิบัติงานต้องระมัดระวังตนเองด้วยการปฏิบัติตามข้อแนะนำสำคัญ 8 ประการ ดังนี้
1) วางแผนการทำงานและการป้องกันอันตรายควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติงาน ชี้แจงหน้าที่ วิธีทำงานการป้องกันอันตรายให้ผู้ที่ต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงทราบ
2) ประเมินสุขภาพของเจ้าหน้าที่ที่ต้องลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศก่อน หากพบว่ามีอาการป่วย บาดเจ็บ หรือร่างกายอ่อนเพลีย ควรหลีกเลี่ยงการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน และให้เปลี่ยนเป็นเจ้าหน้าที่อื่นที่มีความพร้อมของร่างกายแทน

3) ขณะปฏิบัติงานให้จัดทำป้าย “พื้นที่ที่อับอากาศ พื้นที่เสี่ยง พื้นที่อันตราย ห้ามเข้า” ติดไว้ที่บริเวณหน้าทางเข้า – ออก และต้องมีระบบการขออนุญาตก่อนเข้าทำงานทุกครั้ง
4) ตรวจสอบระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ สวิตช์ไฟต่าง ๆ ให้ใช้งานได้ปกติ ไม่มีสายไฟขาดหรือชำรุด และควรมีระบบตัดไฟอัตโนมัติหากเกิดกรณีไฟฟ้าช็อต หรือไฟฟ้ารั่วในพื้นที่ทำงาน
“ประเด็นสำคัญที่สุด คือ 5) ให้ทำการตรวจวัดก๊าซพิษ ก๊าซติดไฟและปริมาณก๊าซออกซิเจนต้องอยู่ระหว่าง 19.5 – 23.5 เปอร์เซ็นต์ ก่อนลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศทุกครั้ง และต้องกำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานต่อคนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตหรือหมดสติในขณะปฏิบัติงาน
6) ต้องมีระบบหรือกลไกการแจ้งขอความช่วยเหลือกรณีเจ้าหน้าที่ประสบเหตุในพื้นที่อับอากาศ และต้องมีผู้ควบคุม และมีผู้ช่วยเหลืออยู่ประจำบริเวณทางเข้า – ทางออก ตลอดเวลาที่มีการทำงาน โดยผู้ควบคุม และผู้ช่วยเหลือต้องมีความรู้ในการป้องกันตนเอง ขณะลงไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุด้วย
7) จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล Personal Protective Equipment (PPE) อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสม และ
8) ผู้ที่จะต้องเข้าไปทำงานในที่อับอากาศมีลักษณะงานที่เสี่ยงต่อการได้รับหรือสัมผัสอันตรายจะต้องผ่านการอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา : กรมอนามัย ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต