มุมมอง
คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เน้นการทานอาหารเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เพราะหวังว่าจะมีผลต่อลูก ทำให้ลูกตัวโตร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ แต่เชื่อมั้ยค่ะว่าคุณแม่ทั้งหลายยังเข้าใจผิดกันอยู่นะคะ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลาย โดยทั่วไปไม่ค่อยได้ออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวทางร่างกายน้อย ถ้าทานมากเกินไปก็จะเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมากนี้มักจะตกอยู่ที่ตัวคุณแม่เอง ไม่ได้มีผลกับลูกน้อยในครรภ์เท่าที่ควร
คุณแม่ที่อ้วนอาจมีปัญหาแทรกซ้อนทั้งในตัวคุณแม่เองและทารกน้อยได้ เช่น อาจพบโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระหว่างตั้งครรภ์ การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด การตกเลือดหลังคลอด ต้องได้รับยากระตุ้นคลอด ผ่าท้องทำแท้งบุตร การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด มีความเสี่ยงต่อการดมยาสลบเพิ่มขึ้น ลิ่มเลือดอุดตัน (Thromboembolism) ส่วนทารกอาจจะเกิดภาวะทารกตัวโต ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเกิดไร้ชีพได้
เพราะฉะนั้นในการทานอาหารเพื่อให้ได้คุณค่าในการบำรุงลูกน้อยในครรภ์จริงๆ โดยการ
กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ เช้า เที่ยง เย็น โดยกินระหว่างมื้อได้ โดยเลือกอาหารว่างที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น นมจืด ผลไม้ ขนมไทยรสไม่หวานจัด
เลือกกินอาหารกลุ่มโปรตีน เนื้อสัตว์ให้หลากหลาย รวมทั้ง ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง เพื่อให้ได้โปรตีน กรดไขมันจำเป็น แร่ธาตุและวิตามิน ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งการเจริญเติบโตของเซลล์สมองของลูกน้อยในครรภ์
กินปลา โดยเฉพาะปลาทะเลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ได้รับ DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นในกลุ่มโอเมก้า 3 ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง และระบบประสาทเกี่ยวกับการพัฒนาเรียนรู้และจอประสาทตาเกี่ยวกับการมองเห็นของลูกน้อย
กินอาหารที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็ก เช่น ตับ เลือด เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และควรกินผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะปรางสุก มะละกอสุก ส้ม ร่วมด้วย เพื่อช่วยในการดูดซึมาตุเหล็ก
กินผักผลไม้เป็นประจำทุกวัน ให้หลากหลายสี เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุครบ
กินอาหารที่มีแคลเซียม เป็นประจำ เช่น เนยแข็ง ปลาเล็กปลาน้อย ปลาซาร์ดีนกระป๋อง สัตว์ตัวเล็กที่กินได้ทั้งตัวและกระดูก
ใช้เกลือหรือน้ำปลาเสริมไอโอดีน ในการปรุงอาหารทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน
กินยาตามหมอแนะนำ เสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟเลต ทุกวันเพื่อป้องกันการขาด ไอโอดีน ธาตุเหล็กและโฟเลต
พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8 ชั่วโมง และหากมีโอกาสก็ควรนอนช่วงกลางวันประมาณวันละครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง
ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดิน และบริหารร่างกาย เพื่อลดอาการแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและระบบย่อยอาหารดีขึ้น โดยเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับอายุครรภ์ในขณะนั้น
การทำอะไรทุกอย่าง มีคำกล่าวไว้ว่า ควรเดินทางสายกลาง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการกินเพื่อบำรุงครรภ์ ก็สามารถนำคำกล่าวนี้มาเป็นข้อคิดได้ด้วยเช่นกัน ดังเหตุผลที่กล่าวมาแล้วนั้น ความพอดีมีประโยชน์ที่สุด ทานอาหารเน้นที่มีประโยชน์ คำนึงถึงสารอาหารที่ลูกในท้องจะได้รับ โดยไม่ต้องเน้นในเรื่องปริมาณที่มากเกินไป เพราะไม่ได้ส่งผลดีให้ลูกน้อยในครรภ์อย่างที่คุณแม่คาดหวัง แถมยังทำให้คุณแม่หลังคลอดกลายเป็นหญิงอ้วนและจะลดหุ่นให้สวยเพรียวเหมือนเดิมได้ยากค่ะ (อันนี้จากประสบการณ์ตรงเลยนะคะ อ้วนแล้วลดยากมากค่ะ ขอบอก)
ขอขอบคุณ ที่มา : ModernMomVol.17