
มุมมอง

การมีลูกน้อยเป็นเด็กมั่นใจ เชื่อมั่นในตัวเองถือได้ว่าเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง แต่จะทำอย่างไรดีนะ จะสอนลูก ฝึกลูกอย่างไรดี ไม่ยากเลยค่ะ วันนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกันแล้ว มาดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ
Self-Esteem ที่ว่านี้ เราเริ่มฝึกลูกได้ตั้งแต่เป็นเด็กแบเบาะ สังเกตง่าย ๆ ว่า เจ้าตัวน้อยกำลังคืบคลานกระดืบๆ อยู่กับพื้น ถ้าเราลองเอาของเล่นไปวางไว้ข้างหน้า เขาจะรีบคลานๆๆๆ จนกว่าจะคว้าสิ่งของนั้นไว้ได้ และเมื่อเขาคว้าได้ ตาเขาจะเป็นประกายแห่งชัยชนะที่เปื้อนสุข และความรู้สึกนั้นแหละที่เขาเรียกว่า การนับถือตัวเองที่สามารถทำได้ และเมื่อลูกได้หัดได้ลองทำอะไรตามกำลังความสามารถของตัวเองอยู่บ่อย ๆ ต่อไปเขาจะเริ่มเชื่อมั่นในความสามารถของเขามากขึ้น จนเรียกว่าเป็นคนที่นับถือในคุณค่าและความสามารถของตัวเอง สะสมมากเข้า ๆ อีกหน่อยก็กลายเป็นหนุ่มสาวมั่นยุคใหม่ไปในทันที
มาดูว่า 12 วิธีสร้างลูกให้เป็นหนุ่มสาวมั่น
เด็กวัย 1-2 ขวบ เด็กวัยนี้ก็เหมือนเด็กทารก ที่ยังต้องการความรัก การเอาใจใส่จากเรามากมาย ถ้าจะสร้าง Self-Esteem ให้ เราต้องเริ่มต้นให้ลูกรู้ก่อนว่า เรารักเขามากแค่ไหน และเขามีคุณค่าในตัวเองแค่ไหน เมื่อเขารู้สึกเป็นที่รักแล้ว ความรู้สึกภูมิใจ อบอุ่นใจจะเกิดขึ้นจนกลายเป็นเด็กนับถือตัวเอง และมั่นใจเกินร้อย
1.ใช้เวลาด้วยกัน แค่มีเวลากับลูก นั่งๆ นอนๆ ด้วยกัน นั่งกอดกันบนโซฟา ลูบผมลูกขณะนั่งรถไปด้วยกัน กิจกรรมแบบสบายๆ อย่างนี้ช่วยให้ลูกรู้สึกดีกับตัวเอง และมั่นคงในจิตใจได้แล้ว พอเขารู้สึกอบอุ่นในหัวใจ ก็จะมีความเชื่อมั่นที่จะออกไปเรียนรู้โลก เพื่อทดสอบความสามารถของตัวเองต่อไป
2.อ่านนิทานให้ลูกฟัง การอ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน จะช่วยให้ลูกมีไอเดียบรรเจิด หนำซ้ำยังรู้สึกถึงความรัก ที่ส่งผ่านจากเสียงที่ตั้งอกตั้งใจเล่าให้ฟังด้วย

3. เป็นนายตัวเอง ลองให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น วันนี้อยากกินอะไร เมื่อลูกบอกความต้องการมาแล้ว ก็ต้องเคารพความคิดเห็นเขาด้วย
ต่อไปลองเสนอทางเลือกให้ลูกเลือก เช่น หมั่นถามลูกว่าจะทำอะไรก่อนหลัง เช่น จะอาบน้ำก่อน หรือกินข้าวก่อน หรือจะดูการ์ตูนก่อน หรือออกกำลังกายก่อน แค่ลองให้ลูกคิด ต่อไปลูกจะเริ่มมั่นใจในความคิด และนับถือความสามารถของตัวเอง ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะหลุดจากวินัยที่คุณวางไว้ แค่ใช้ให้เหมาะกับเวลา และตัวเลือกนั้นให้อยู่ในกิจกรรม หรือตารางประจำวันของลูกเท่านั้นเอง
4. มอบหมายงานเล็ก ๆ ให้ เมื่อลูกทำได้สำเร็จ ก็ภูมิใจในความสามารถตัวเอง แล้วพอโตขึ้นงานใหญ่ ๆ แค่ไหนก็ไม่หวั่น..อย่างกินข้าวด้วยตัวเอง จับช้อน หยิบส้อมแม้จะเลอะเทอะไปบ้าง แต่ลูกจะปลื้มกับสิ่งที่ทำได้ จากนั้นลองฝึกให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองอย่างใส่เสื้อ ใส่กางเกง ใส่รองเท้า ฯลฯ หรือหยิบของเล็กๆ น้อย ๆ ให้เรา งานเล็ก ๆ แบบนี้ล่ะสร้างความมั่นใจ และนับถือตัวเองได้มากทีเดียว
เด็กวัย 2-3 ขวบ วัยนี้ค่อนข้างเริ่มเป็นตัวของตัวเองสูงแล้ว ดังนั้นจะต้องทำตัวแบบว่า...แม่ไม่บังคับหนูหรอก แต่ขอแจมสิ่งที่หนูกำลังสนใจอยู่หน่อยได้ไหม กิจกรรมที่เราสามารถสร้าง Self-Esteem ให้ลูกวัยนี้ได้คือ
5. กินไปเม้าท์ไป การคุยกับลูกตอนเย็น ๆ อย่างเวลากินข้าว ช่วยให้เรารู้ความเป็นไปของเขาในวันนั้น อย่างสมมติวันนี้ลูกอารมณ์บ่จอยจากเพื่อน ๆ มา เราก็แค่แนะ ๆ ว่า "อือม์...ลูกจ๋าวันนี้หน้าบึ้งจัง เป็นอะไรเหรอ?" แค่ประโยคเอาใจใส่แบบนี้เองที่ช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้น และรู้สึกเป็นที่รัก
6. นักแสดงตัวน้อย เมื่อลูกเกิดอยากแต่งตัวเป็นเจ้าหญิง หรืออยากเต้นระบำขึ้นมา โอกาสทองมาเยือนแล้วล่ะ เพราะเราสามารถตั้งคำถามถึงสิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่ และถามต่อไปด้วยว่าเขารู้สึกอย่างไรกับตัวเอง เช่น "ลูกจ๋า...แม่ว่าชุดเจ้าหญิงหนูสวยจัง หนูว่าไงจ๊ะ" หรือ "โอ้โห้...เต้นเก่งอย่างนี้ หนูว่าเพื่อน ๆ จะชมหนูเหมือนแม่ชมไหมเนี่ย" แค่เพียงคำถามกระตุ้นต่อมความเชื่อมั่นในตัวเองแบบนี้ ก็ช่วยให้ลูกเป็นเด็กมั่นได้แล้ว
7. อัลบั้มรูปเตือนใจ นำอัลบั้มรูปสมัยลูกยังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ มาดูด้วยกัน เพื่อให้ลูกรู้ที่มาที่ไปของตัวเอง และเพื่อให้ลูกรู้ว่า ลูกมีความหมายกับเรามากแค่ไหน เราถึงต้องเก็บรูปลูกอยู่อย่างต่อเนื่อง

8. เกมแห่งความประทับใจ เกมนี้สนุกอย่าบอกใคร แค่ถามลูกว่า เขาชอบไปเที่ยวที่ไหนกับพ่อแม่มากที่สุด หรือวันเกิดที่ผ่านมาเขาชอบของขวัญชิ้นไหนที่สุด แค่นี้เองก็สามารถทำให้ลูกรู้สึกดี ๆ กับเหตุการณ์ที่ผ่านมา รวมทั้งรู้สึกดี ๆ กับตัวเองด้วย
9. วันนี้วันดี อีกหนึ่งเกมที่สนุกไม่แพ้กัน แค่เธอเซ็ตวันใดวันหนึ่งของอาทิตย์ให้เป็น "วันดีเดย์" คือวันแห่งความดี โดยให้ลูกฟังแต่เรื่องดี ๆ จากเราว่า วันนี้ลูกทำอะไรน่ารัก ๆ ให้เราบ้าง อย่าง "วันนี้หนูน่ารักมากจ้ะที่ช่วยแม่หยิบช้อน ส้อมมาวางบนโต๊ะ" หรือ "แม่ภูมิใจที่ลูกไม่งอแงเลยในวันนี้" แค่ประโยคหวานหูแบบนี้จะช่วยให้ลูกรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ทำ และรู้สึกเห็นคุณค่าของตัวเองแล้ว
10. เล่นซ่อนหา เอาของขวัญวันเกิด หรือของขวัญปีใหม่หรือของขวัญตอบแทนที่ลูกทำดีไปซ่อนไว้ ให้ลูกควานหาอย่างสนุกสนาน พอเจอของขวัญชิ้นพิเศษนั้น ๆ ลูกจะรู้สึกว่า พ่อแม่รู้สิ่งที่ลูกทำอยู่นั้นดีแค่ไหน และมีคุณค่าต่อเราและต่อตัวเองแค่ไหน
11. ให้ลูกช่วยงานบ้าน เช่น ช่วยกรอกน้ำใส่ขวด หรือล้างช้อนส้อม หยิบผัก หยิบไข่ เช็ด ๆ ถู ๆ โต๊ะกินข้าว งานแบบนี้ล่ะจะช่วยฝึกให้ลูกรู้ว่า เรื่องแค่นี้ลูกทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย..
12. ทำกิจกรรมหลากหลาย เด็กวัยนี้ความสนใจยังไม่ชัดเท่าไร แต่ถ้าให้ลูกได้เล่นกิจกรรมหลากหลาย นอกจากจะช่วยให้ลูกรู้ว่าชอบอะไร เหมาะกับอะไร และถนัดทำอะไรแล้ว กิจกรรมนั้น ๆ ยังสอนให้ลูกรู้ด้วยว่า คนเรามีทางเลือกมากมายให้กับชีวิต เมื่อลองทำกิจกรรมนี้แล้วไม่สัมฤทธิ์ผล แต่อย่างน้อยยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกที่ดาหน้าให้ลูกประลองฝีมือ
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกลองไปเลย...ไม่ว่าจะเล่นต่อไม้บล็อก จิ๊กซอว์ ปั้นแป้งโดว์ วาดรูป ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ฯลฯ ทุกกิจกรรม ช่วยสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องความสามารถของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น
ขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร รักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต