ทิศทางการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม
ทิศทางการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เสริมสร้างให้ทารกแข็งแรงที่สุด และฉลาดที่สุด เต็มตามศักยภาพ แม่ที่ไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่


อธิบายความแตกต่างของนมสำหรับเด็กทารก (infant formula), นมสูตรต่อเนื่อง (follow-on formula), และนมสด (whole milk). ความแตกต่างและความสำคัญของนมสำหรับเด็กในวัยต่างๆ

เพียรวิทย์ ตันติแพทยางกูร พบ., M.S. Ph.d

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เสริมสร้างให้ทารกแข็งแรงที่สุด และฉลาดที่สุด เต็มตามศักยภาพ แม่ที่ไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยไม่ต้องเสริมนมผสมใดๆ ทั้งสิ้น นมแม่อย่างเดียว สามารถเลี้ยงลูกได้ จนอายุ 6 เดือน และเมื่อได้รับอาหารเสริมตั้งแต่อายุ 4 - 6 เดือนเป็นต้นไป ให้นมแม่ต่อไปจนลูกอายุ 1 1/2 - 2 ปี (หย่านม)ในกรณีที่แม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน นมผสมก็สามารถเลี้ยงทารกให้มีสุขภาพดี ทั้งกาย ใจ และสมอง แต่ต้องเลือกชนิดของนมผสม ให้เหมาะกับอายุของลูก

นมผสมสามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท ตามปริมาณโปรตีนต่อ 100 ซีซี ( 20 kcal / oz ) เมื่อผสมแล้วดังนี้

  1. Infant formula ปริมาณโปรตีน 1.5 - 2.0 กรัม / 100 ซีซี ใช้สำหรับทารก 0 - 12 เดือน อายุ 6 เดือนแรก ให้เลือกชนิดที่มีปริมาณโปรตีนใกล้เคียง 1.5 กรัม ไม่ใช้ชนิด 2.0 กรัม
  2. Follow-on formula ปริมาณโปรตีน 2.0 - 3.0 กรัม / 100 ซีซี บนฉลากเขียนไว้ว่า ให้ใช้กับทารก และเด็กเล็ก อายุ 6 เดือน - 3 ปี แต่ขอแนะนำให้ใช้ ตั้งแต่อายุ 12 เดือนเป็นต้นไป ช่วงอายุใกล้เคียง 2 ปี ให้ใช้ชนิดที่มีปริมาณโปรตีน ใกล้เคียง 2.0 กรัม ส่วนช่วงอายุใกล้เคียง 3 ปี ให้ใช้ชนิดที่มีปริมาณโปรตีน ใกล้เคียง 3.0 กรัม
  3. Whole milk ปริมาณโปรตีนประมาณ 3.4 กรัม / 100 ซีซี ไม่ให้ใช้กับทารก ภายในอายุ 12 เดือน และไม่ควรใช้กับเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 2 ปี เพราะมีปริมาณโปรตีนมากไป

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับนมผสม

  • ทารกและเด็ก ยิ่งอายุมาก ความต้องการโปรตีนต่อนํ้าหนักตัว 1 ก.ก. จะยิ่งน้อยลง ทารกและเด็กเล็ก ได้รับโปรตีนมากเกินต้องการ นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจเป็นโทษด้วย ขณะนี้ทารกไทย ส่วนมากถูกเลี้ยงด้วย Follow-on formula จึงได้รับโปรตีนมากเกินไป ไม่เป็นผลดี
  • การเติม Arginine, B-Carotene, Camitine และ Cholesterol ใน Infant formula, follow-on formula, whole milk ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ และโภชนาการว่ามีประโยชน์
  • Taurine nucleotides arachidonic acid และ DHA มีหลักฐานบ่งว่า น่าจะมีประโยชน์ สำหรับทารกเกิดก่อนกำหนด ภายในอายุ 3 - 6 เดือนแรก แต่ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จึงไม่มีความจำเป็น ต้องเติมลงไปใน follow-on formula และ whole milk
  • Prebiotics เป็น non - digestible oligosaccharides และ dietary fiber ส่วน Probiotics เป็น bifidobacteria และ lactobacilli กำลังได้รับความสนใจทางโภชนาการ อาจมีประโยชน์ ช่วยเสริมสร้างให้ลำไส้ มีสรีรวิทยาใกล้เคียงกับภาวะ ที่เลี้ยงด้วยนมแม่ แต่ยังต้องการการศึกษาในคนอีก ก่อนที่จะสรุปว่า ควรหรือไม่ควรเติมลงในนมผสม
  • การให้นมผสมมากเกินความจำเป็น อาจทำให้เกิดโรคขาดอาหารได้ ถ้าไปขัดขวางการกินอาหารเสริม หรืออาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้ ถ้าการกินอาหารเสริม ไม่ถูกขัดขวาง โรคขาดอาหารหรือโรคอ้วนนี้ เป็นผลจาก การเลี้ยงด้วยนมผสมไม่ถูกต้องในช่วงวัยทารก เป็นความผิดปกติของบริโภคนิสัย ซึ่งรักษายากมาก และมีผลต่อสุขภาพโดยรวมได้ราคาของนมผสม ไม่ได้สะท้อนคุณภาพ

ขอขอบคุณข้อมูล เพียรวิทย์ ตันติแพทยางกูร ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?