วิธีเสริมสร้างความภูมิใจในตนเอง
วิธีเสริมสร้างความภูมิใจในตนเอง
ความภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) เป็นสิ่งสำคัญ ที่มีอิทธิพล ต่อแนวคิด ในการ ดำเนินชีวิต แต่คุณรู้ไหมว่า ความภูมิใจในตนเอง เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ สร้างสมมา ตั้งแต่เด็ก


ความภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) เป็นสิ่งสำคัญ ที่มีอิทธิพล ต่อแนวคิด ในการ ดำเนินชีวิต แต่คุณรู้ไหมว่า ความภูมิใจในตนเอง เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ สร้างสมมา ตั้งแต่เด็ก เด็กที่มีความภูมิใจในตนเอง รู้ในคุณค่าของตนเองจะเป็น เด็กที่มี ความมั่นใจ สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว หรือ อดทนต่อ ความกดดัน ความเครียด และข้อขัดแย้งในชีวิตได้ดี เขาสามารถยิ้ม ให้กับชีวิตได้ และ เป็นคนมองโลกในแง่ในทางกลับกัน เด็กที่ขาดความมั่นใจ และ ความภูมิใจในตนเอง มักจะเป็น คนวิตกกังวล เกิดความเครียด ต่อปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตได้ง่าย ไม่สามารถหา ทางแนวคิด ที่เหมาะสมต่อปัญหาต่างๆ เด็กเหล่านี้ มักมีความคิด เกี่ยวกับตัวเองว่า "เราเป็นคนไม่เก่ง" หรือ "เราไม่เคยทำอะไรถูกเลย" เด็กมักจะมีลักษณะเงียบๆ ไม่ค่อยมีเพื่อนฝูง หรืออาจจะเก็บกดได้

บทบาทขอบพ่อแม่และผู้ปกครอง จะช่วยได้อย่างไร มีข้อแนะนำดังนี้

พูดให้กำลังใจเด็กอย่างสร้างสรรค์ เด็กๆ นั้นมักจะมีความรู้สึกอ่อนไหวได้ง่าย ต่อคำพูดของพ่อแม่ คุณต้องพูดจา ชมเชยลูกไม่เพียงแต่เมื่อลูก ประสบความสำเร็จ แต่ควรจะพูดส่งชมเชยลูกด้วย เมื่อลูก ได้ใช้ความพยายามของตนเอง (แต่ไม่ประสบความสำเร็จ) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกแข่งกีฬาแต่ไม่ชนะ พยายามเลี่ยงคำพูดว่า "คราวหน้าซ้อมให้หนักขึ้นนะลูก" แต่ควรจะพูดว่า "ถึงแม้ว่าลูกจะไม่ชนะ แต่แม่ก็ภูมิใจในความพยายามของลูก" เราควรพูดชมเชย ต่อความพยายามของลูก มากกว่า พูดถึงผลลัพธ์ที่ออกมา การพูด ชมเชยนั้น ต้องพูดออกมาจากใจ เด็กจะรับรู้ได้ว่า คุณพูดออกมาจากใจ หรือ พูดเกินจริง

ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก ถ้าคุณเป็นคนเกรี้ยวกราด เจ้าอารมณ์ มองโลกในแง่ร้าย หรือ ขาดความภูมิใจ ในตนเอง เด็กก็จะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณ อย่างแน่นอน ดังนั้น คุณจะต้องสำรวจ ตนเองว่า คุณเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกๆของคุณหรือไม่

สังเกตและแก้ไขความรู้สึกที่ผิดๆของเด็ก เป็นบทบาทสำคัญของพ่อแม่ และ ผู้ปกครองที่จะสังเกตว่า เด็ก หรือลูกๆ ของคุณ มีความรู้สึกต่อตนเองเป็นอย่างไร ความรู้สึกที่ผิดๆ บางอย่าง ถ้าไม่ได้รับ การแก้ไข ในทางที่เหมาะสมแล้ว อาจจะฝังลึก กลายเป็นความรู้สึกถาวรได้ เช่น ถ้าเด็กสามารถ เรียนที่โรงเรียนได้ดี ยกเว้นแต่วิชาคณิตศาสตร์ เด็กอาจจะพูดว่า "เขาไม่สามารถ คิดเลขได้ เขาเป็นเด็กโง่" ความรู้สึกเช่นนี้ ไม่เพียงแต่เป็นความคิดที่ผิด แต่อาจจะ เป็นการฝังราก ของความรู้สึกล้มเหลว และขาดความภูมิใจในตนเองได้ คุณจะต้องพูด กับเด็กให้เขารับรู้ ถึงแง่คิดในการมอง ที่ถูกต้อง การตอบสนองต่อสถานการณ์ ข้างต้น อาจจะเป็นว่า "ลูกสามารถเรียนวิชาอื่นๆ ที่โรงเรียนได้ดี เลขเป็นเพียงวิชาหนึ่ง เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงทั้งหมด ลูกไม่ได้เป็นเด็กไม่ฉลาด เพียงแต่ว่า ลูกต้องให้เวลา ทำการบ้านในวิชาเลข และ ทบทวนบทเรียนให้มากขึ้นเท่านั้น"

ให้ความรักให้พอเพียง การให้ความรัก เป็นสิ่งที่สร้างความภูมิใจแก่ตนเองอย่างแน่นอน การกอด สัมผัส พูดชมเชย พูดว่าคุณภูมิใจในตัวเขา เป็นสิ่งที่ควรทำ แม้ว่ามันอาจจะ ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมเดิมของคนไทยเราก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่ดี ที่ควรทำโดย เฉพาะกับลูกๆของคุณ และอย่าลืมอย่างที่บอกเอาไว้ว่า ต้องทำออกมาจากหัวใจ อย่าทำเกินจริง เพราะเด็กสามารถรับรู้ได้

ให้การตอบสนองต่อพฤติกรรมอย่างถูกต้อง การตอบสนองต่อ พฤติกรรมของลูกๆ จะเป็นตัวสะท้อน ถึงผลของการกระทำ ของเขา การตอบสนองที่ดี จะทำให้เขารับรู้ว่า การกระทำนั้นๆเป็นสิ่งที่ดี เช่น เมื่อลูกคุณไปทะเลาะกับเพื่อน แทนที่คุณจะบอกลูกว่า "ห้ามทะเลาะกับเพื่อนอีกนะลูก การทะเลาะเป็นนิสัยของเด็กเกเร" เด็กอาจจะ รู้สึกว่าเขาไม่ดี ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ คุณอาจจะพูดว่า "ลูกทะเลาะกับ เพื่อนมา แต่แม่ก็เห็นว่า ยังดีที่ลูกไม่ได้ลงมือ ลงไม้กัน" การพูดเช่นนี้ เหมือน เป็นการให้รางวัลแก่เด็ก ว่าเขาสามารถควบคุมตนเอง และ เลือกทางออก ที่เหมาะสมได้ และจะสามารถเลือกได้อีก เมื่อเกิดเหตุการณ์ซ้ำในคราวต่อไป

สร้างบรรยากาศที่ดีในบ้าน เด็กที่รู้สึกว่า อยู่บ้านแล้วไม่มีความสุข หรือ รู้สึกไม่ปลอดภัย จะมีระดับ ความภูมิใจในตนเองต่ำ บ้านที่พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยๆ จะทำให้ลูกๆ เป็นเด็ก เก็บกด ดังนั้นคุณควรสร้างบรรยากาศในบ้านให้ดี ปรองดองกัน เมื่อมีข้อขัดแย้ง ในชีวิตคู่ ควรจะหาสถานที่ที่มิดชิดพูดคุยกัน ไม่ควรทะเลาะกันต่อหน้าเด็กๆ นอกจากนั้น คุณต้องสังเกตว่าลูกคุณ มีความสุขที่โรงเรียนด้วยหรือไม่ สังเกตว่า ตามแขนขา มีรอยฟกช้ำจากการโดนทำร้ายร่างกายหรือเปล่า

ส่งเสริมให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ กิจกรรมที่เสริมสร้าง การทำงานเป็นทีม ทำงานร่วมกัน เพื่อประสบ ความสำเร็จ จะเป็นกิจกรรมที่ดี ในการสร้างความมั่นใจ และ ความภูมิใจ ในตนเอง เช่น กิจกรรมที่ให้พี่สอนน้องอ่านหนังสือ จะเป็นผลดีต่อ ความภูมิใจ ในตนเองทั้งสองฝ่าย เป็นต้น ส่วนกิจกรรมที่เน้นการแข่งขัน และ ผลลัพธ์ของ การแข่งขัน จะไม่ค่อยเป็นผลดีนัก เพราะจะทำให้เด็กเคร่งเครียดจนเกินไป

จากข้อแนะนำ ที่กล่าวมานี้คงจะเป็นแนวทางให้ คุณได้สังเกต และ เสริมสร้าง ความภูมิใจในตนเอง ให้กับลูกๆหรือเด็กๆของคุณ แต่ถ้าเกินความสามารถ ของ คุณในการแก้ไข คุณสามารถพาเด็กไปพบจิตแพทย์เด็ก จิตแพทย์ จะซักประวัติ เด็ก และ พ่อแม่ มีการทดสอบเพื่อให้ทราบว่า เด็กคิดอย่างไร และอะไร เป็น สาเหตุ ที่ทำให้เขามีความภูมิใจในตนเองต่ำ และ สามารถสร้างกิจกรรม ในการแก้ไขที่เหมาะสม ทำให้เด็กมองโลกในแง่ของความเป็นจริง มองโลก ในแง่ดี และรักตัวเอง

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารรักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?