รับมือลูกป่วยช่วงอากาศเปลี่ยน
รับมือลูกป่วยช่วงอากาศเปลี่ยน
ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจลูกน้อยเป็นพิเศษนะคะ เพราะขนาดผู้ใหญ่อย่างเราๆ ที่คิดว่าร่างกายแข็งแรง พอมาเจอกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงก็ยังป่วยกันเลย


ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจลูกน้อยเป็นพิเศษนะคะ เพราะขนาดผู้ใหญ่อย่างเราๆ ที่คิดว่าร่างกายแข็งแรง พอมาเจอกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงก็ยังป่วยกันเลย แล้วเด็กเล็กๆ ที่ภูมิต้านทานยังน้อยอยู่จะไม่ป่วยได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเรามารับมือลูกป่วยกันดีกว่า เวลาลูกป่วยจะได้มีสติ ไม่ต้องตกอกตกใจ

อากาศร้อนควรระวัง

  • โรคลมแดด หรือ Heat Stroke มักเกิดในช่วงกลางวันที่อากาศร้อนจัด ซึ่งเด็กเล็ก ๆ มีโอกาสเสี่ยงได้ง่าย ดังนั้นหากพบว่าลูกมีผิวหนังแดงร้อน แห้ง และไม่มีเหงื่อให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกจิบน้ำสะอาดบ่อย ๆ เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกายและป้องกันการขาดน้ำอย่างเฉียบพลัน ในช่วงที่อากาศร้อนควรงดกิจกรรมหนัก ๆ และควรแต่งกายให้ลูกอย่างเหมาะสมตามสภาพภูมิอากาศ ไม่คับแน่น หรืออึดอัดเกินไป
  • ท้องร่วงอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะอาหารที่ไม่สะอาดหรือเนื้อสัตว์ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ หากไม่ระวังให้ลูกกินเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษได้ เพราะอาหารที่ลูกกินอาจมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ได้เก็บไว้ในตู้เย็น หรืออาหารที่ทำล่วงหน้าเป็นเวลานาน ๆ
  • โดยลักษณะอาการคือ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางครั้งอาจมีอาการ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หากถ่ายอุจจาระมาก ๆ จะให้ร่างกายขาดน้ำจนอ่อนเพลียและหมดเรี่ยวแรง เพราะฉะนั้นก่อนให้ลูกกินอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจเช็คให้ดีเสียก่อน แต่ทางที่ดี กินอาหารสุกใหม่จะดีกว่าค่ะ

ฝนตก ความชื้นเป็นเหตุ

1. ไข้เลือดออก นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศปัจจุบันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงทำให้ เชื้อไข้เลือดออกมีอัตราการระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม จะเป็นช่วงฤดูกาลระบาดของไข้เลือดออก ทั้งภาวะโลกร้อนยังทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น องค์การอนามัยโลกจึงได้ออกมาเตือนว่า ปัจจุบันนี้มีประชากรโลกถึงร้อยละ 40 ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก

โดยอาการที่แสดงออกในเด็กเล็กอาจมีเพียงไข้และเป็นผื่นคัน แต่ถ้าเป็นเด็กโตลูกจะมีไข้สูงเฉียบพลันและปวดศีรษะร่วมด้วย เด็กบางคนอาจมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ มีผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีภาวะช็อกหมดสติและเสียชีวิตได้ ดังนั้นภายใน 1-2 วัน หากลูกมีไข้ สูงไม่ยอมลด คุณพ่อคุณแม่ ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลทันทีค่ะ

2. ทอนซิลอักเสบ แม้อาการจะไม่รุนแรงมากนัก แค่ก็สามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ฝนตกมีพายุกระหน่ำ เนื่องจากพายุที่เกิดขึ้นมีโอกาสที่จะพัดเอาฝุ่นละอองและความชื้นมาสู่ลูกน้อยได้ กลุ่มเชื้อไวรัสที่พบบ่อยที่สุดก็คือ Rhinovirus และ Coronavirus ซึ่งอาการมักไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นเชื้อ Adenovirus อาจทำให้เด็ก ๆ มีอาการเจ็บคอและเป็นทอนซิลอักเสบ ไข้สูง หรือมีลักษณะเหมือนทอนซิลเป็นหนองได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขอนามัยของลูกน้อยให้สะอาด อย่างสม่ำเสมอ หมั่นล้างมือให้ลูกบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนที่ไม่สบาย และถ้าลูกไม่สบายก็ไม่ควรปล่อยให้ไปโรงเรียนค่ะ เพราะอาการลูกอาจแย่ลงและมีโอกาสแพร่เชื้อให้เด็กคนอื่นด้วย

เราไม่สามารถควบคุมสภาพอากาศได้ก็จริง แค่เราสามารถป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเจ็บป่วย ด้วยการดูแลสุขอนามัยของลูกค่ะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารรักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?