ลูกโป่ง ของเล่นต้องห้าม
ลูกโป่ง ของเล่นต้องห้าม
คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่คะว่า ลูกโป่งสีสวยๆ ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปนั้น สามารถทำให้ลูกน้อยของเราเกิดอันตรายได้ ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานการตายของเด็กจากลูกโป่งถึง 110 รายในเวลาตั้งแต่ปี 1977-2001


คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่คะว่า ลูกโป่งสีสวยๆ ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปนั้น สามารถทำให้ลูกน้อยของเราเกิดอันตรายได้ ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานการตายของเด็กจากลูกโป่งถึง 110 รายในเวลาตั้งแต่ปี 1977-2001 สาเหตุการตายเกิดจากการอุดตันทางเดินหายใจโดยเศษลูกโป่งหรือลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่า เด็กส่วนใหญ่ที่ตายอายุน้อยกว่า 6 ปี อย่างไรก็ตามมีรายงานการอุดตันทางเดินหายใจจากลูกโป่งในเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปีแต่ช่วยเหลือได้ทัน

พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจโดยลูกโป่งนั้นมี 2 แบบ

แบบที่หนึ่งคือเด็กเป่าลูกโป่งเอง ในขณะเป่านั้น จังหวะที่เด็กต้องการหายใจเข้าเพื่อเติมลมในปอดนั้นจะต้องดูดอากาศเข้าอย่างแรงโดยมีลูกโป่งจ่ออยู่ที่ริมฝีปาก ทำให้เกิดโอกาสที่ลูกโป่งจะถูกดูดเข้าไปในปากและลงไปในหลอดลม เกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้

อีกพฤติกรรมหนึ่งคือ การที่เด็กเอาลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าเข้าปากแล้วอมไว้หรือเคี้ยวเล่น การเผลอของเด็ก การวิ่ง ปีนป่าย หรือหัวเราะ อาจทำให้สำลักลูกโป่งที่อมไว้นั้นเข้าปอด เกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้

เศษลูกโป่งที่แตกแล้ว ก่อให้เกิดความเสี่ยงแบบเดียวกันได้ทั้งสองกรณี คือการเอาเศษลูกโป่งมายืดออกไว้ที่ริมฝีปากและเป่า ในจังหวะหายใจเข้า เศษลูกโป่งอาจจะถูกดูดเข้าไปในปาก และสำลักลงหลอดลม หรือการเอาเศษลูกโป่งอมเคี้ยวในปาก
การอุดตันทางเดินหายใจทำให้สมองขาดออกซิเจน มีเวลาช่วยเหลือเพียง 4-5 นาที การสำลักลูกโป่งลงไปในท่อหลอดลมแล้วคงไม่ง่ายนักที่จะทำให้มันหลุดออกมาได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องตระหนัก ระวัง ดูแลเจ้าตัวน้อยให้ดี และสอนเจ้าหนูตัวน้อยให้มีพฤติกรรมที่ปลอดภัยดังนี้

1. ไม่อนุญาตให้เด็กๆ อายุน้อยกว่า 8 ปี เล่นลูกโป่งที่ยังไม่เป่า
2. ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนเป่าลูกโป่งให้เด็กๆ ที่อายุน้อยกว่า 8 ปีเท่านั้น
3. ห้าม! ... เด็กอมลูกโป่งเข้าปาก
4. ลูกโป่งที่แตกแล้ว ต้องเก็บเศษลูกโป่งให้หมดทันที อย่าให้เด็กเล่นโดยเด็ดขาด
5. เด็กที่เล่นลูกโป่งที่เป่าลมแล้วต้องมีผู้ใหญ่เฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เล่นตามลำพัง
6. แขวนลูกโป่งให้สูง อย่าให้เด็กหยิบถึงได้เอง
7. สอนเด็ก อย่าให้เล่นลูกโป่งใกล้หน้า ใกล้ตา เพราะหากเกิดการแตก แรงระเบิดจะเป็นอันตรายต่อใบหน้าและตาได้ ซึ่งการที่จะทำให้พ่อแม่รับรู้ความเสี่ยงได้นั้น ผู้ผลิตเองจะมีบทบาท ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วผู้ผลิตจะต้องมีคำเตือนบนถุงลูกโป่งเสมอว่าให้ระวังเรื่องดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ก่อนจะให้ลูกเล่นลูกโป่งคราวหน้า คุณพ่อคุณแม่ควรจะคำนึงถึงโทษและอันตรายที่อาจจะตามมาด้วยนะคะ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร นิตยสาร รักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?