เมื่อพี่น้องทะเลาะกัน
เมื่อพี่น้องทะเลาะกัน
ไม่ว่าลูกๆ ภายในบ้านคุณจะทะเลาะกันเอง หรือเป็นคุณเสียเองที่เติบโตมาแบบที่ทะเลาะกับพี่ๆ น้องๆ มาโดยตลอด


ไม่ว่าลูกๆ ภายในบ้านคุณจะทะเลาะกันเอง หรือเป็นคุณเสียเองที่เติบโตมาแบบที่ทะเลาะกับพี่ๆ น้องๆ มาโดยตลอด คุณคงซาบซึ้งกับความน่ารำคาญของการทะเลาะกันเป็นอย่างดี เด็กๆ ต่างก็เกิดมาเพื่อเรียกร้องความสนใจกันทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ๆ ก็มีน้องชายหรือน้องสาวโผล่เข้ามา จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่และผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในบ้าน

เมื่อเด็กๆ เริ่มโตขึ้น สาเหตุของการทะเลาะก็จะเปลี่ยนไป เด็กๆ ก่อนวัยเรียนจะทะเลาะกันเรื่องแย่งของเล่น เด็กๆ ก่อนวัยรุ่นจะเศร้าเสียใจหรืออารมณ์เสียหากรู้สึกว่าพ่อแม่ปฏิบัติต่อเขาไม่ยุติธรรมเท่ากับพี่น้องคนอื่นๆ ในครอบครัว ส่วนเด็กวัยรุ่นตอนต้นมักจะเกี่ยงงอนในการต้องช่วยดูแลน้องๆ คนอื่น หรือช่วยกิจกรรมต่างๆ ในครอบครัว เด็กวัยรุ่นตอนปลายมักจะเก็บอารมณ์อิจฉาไว้ได้ดีกว่าเมื่อเห็นว่าพี่น้องคนอื่นเป็นคนโปรดของพ่อแม่หรือถูกยกขึ้นแท่น

การหาทางแก้ไขต้องดูที่บุคลิกของเด็กแต่ละคน เพราะอาจจะทำให้เรื่องแย่ลงหรือดีขึ้นได้ เด็กๆ ที่อ่อนไหวหรืออ่อนข้อมักจะตกเป็นเป้าให้กับพี่น้องที่เข้มแข็งกว่าส่วนเด็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ออทิสติก ก็อาจถูกอิจฉาจากพี่ๆ น้องๆ เพราะพ่อแม่ให้ความรัก ความสนใจมากกว่า หากไม่มีใครได้รับบาดเจ็บก็เป็นการดีกว่าที่จะให้เด็กๆ ตัดสินและยุติเรื่องด้วยตัวเอง หากพ่อหรือแม่เป็นฝ่ายเข้าไปช่วยตัดสินตลอดเด็กๆ ก็จะพึ่งพาแต่ผู้ใหญ่ตลอดเวลา

หากว่าคุณต้องเข้าไปช่วยจริงๆ ก็ควรต้องเป็นกลางและไม่ถือข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด การตัดสินและพิพากษาจะทำให้เด็กๆ ไม่กล้าเข้ามาเมื่อพวกเขามีปัญหา และควรแยกเด็กๆ ออกจากกันจนกว่าพวกเขาจะใจเย็น หากเด็กคนใดคนหนึ่งบาดเจ็บให้เข้าปลอบโยนก่อนและอย่าเพิ่งเล็งคนที่เป็นฝ่ายลงไม้ลงมือ พูดให้เข้าใจทั้งสองฝ่ายว่าความรุนแรงเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายลงมือก่อนหรือไม่ว่าใครจะพูดอะไรออกมาก็ตาม

สร้างกฎภายในบ้าน

  •  คุณต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในบ้าน แสดงให้เห็นการแก้ปัญหาขัดแย้งที่เหมาะสม
  •  พูดให้ชัดเจนว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ห้ามทำเด็ดขาด เช่น ตะโกนด่าทอ, สบถ หรือใช้ความรุนแรงเป็นต้น
  •  ให้ลูกๆ แต่ละคนมีเวลาเป็นส่วนตัวของตัวเองแบบที่ไม่ต้องแบ่งปันอะไรกับพี่ๆ น้องๆ คนอื่นๆ
  •  ในเวลา 1 อาทิตย์ใช้เวลากับลูกๆ แต่ละคนแบบส่วนตัว อาจเป็นการทำการบ้านหรือทำงานบ้านบางอย่างร่วมกัน
  •  มีกิจกรรมครอบครัวร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ และมีอย่างน้อย 1 มื้อที่ทุกคนต้องนั่งทานอาหารร่วมกันเช่นทุกเช้าวันอาทิตย์เป็นต้น

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารเรื่องผู้หญิง ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?