ชนิดของเครื่องอัลตร้าซาวนด์
ชนิดของเครื่องอัลตร้าซาวนด์
เครื่องอัลตราซาวนด์ ที่ใช้กันในปัจจุบัน มีพัฒนาการไปอย่างมาก และรวดเร็ว ทำให้สามารถใช้ตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้มากขึ้นกว่าเดิม เครื่องอัลตราซาวนด์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน


ภาพจากthanyarak.or.th

ชนิดของเครื่องอัลตราซาวนด์

เครื่องอัลตราซาวนด์ ที่ใช้กันในปัจจุบัน มีพัฒนาการไปอย่างมาก และรวดเร็ว ทำให้สามารถใช้ตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้มากขึ้นกว่าเดิม เครื่องอัลตราซาวนด์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ได้แก่เครื่องตรวจชนิดเห็นการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ในลักษณะ 2 มิติ (real - time scanner ) เครื่องชนิดนี้คือเครื่องที่เห็นและใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน

เครื่องตรวจชนิดเห็นภาพ 3 มิติ ( 3-D ultrasound) ทำให้เห็นรูป ร่างทารกในครรภ์ได้ชัดเจนขึ้น สามารถบอกความผิดปกติของทารกในครรภ์บางชนิดได้ ชัดเจนมาก เช่น ปากแหว่ง กระโหลกศีรษะใหญ่ หรือเล็กกว่าปกติ แต่การดูภาพความเคลื่อนไหวยังสู้ชนิด 2 มิติไม่ได้

เครื่องตรวจชนิดดอพเลอร์ (Doppler ultrasound) ใช้ตรวจดู และ คำนวณอัตราการไหลเวียนเลือดของเส้นเลือดในช่องท้องของมารดา และการไหลเวียน เลือดของเส้นเลือดทารกในครรภ์ได้ ทำให้ใช้บอกสภาพความสมบูรณ์ แข็งแรง ของทารกในครรภ์ ได้ชัดเจน ยิ่งขึ้น

การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ทำอย่างไร การตรวจทำโดย การใช้เครื่องมือที่เรียกว่า หัวตรวจ (PROBE) ถูที่บริเวณหน้าท้อง หรือ ใส่เข้าไปในช่องคลอด แล้วแต่จุดประสงค์ของการตรวจ การตรวจทางหน้าท้องจะได้ภาพที่กว้างกว่า แต่ชัดเจนน้อยกว่า การตรวจผ่านทางช่องคลอด ซึ่งจะได้ภาพที่ชัดเจนกว่า แต่ครอบคลุมพื้นที่ หรืออวัยวะได้น้อยกว่า การตรวจทั้ง 2 วิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแต่ประการใด

การเตรียมตัวก่อนตรวจในการตรวจด้วย เครื่องอัลตราซาวนด์ โดยทั่วไป ท่านไม่จำเป็น ต้องเตรียมตัว อะไรเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำ หรือ อาหาร อย่างไรก็ตาม การตรวจทางหน้าท้อง กับตรวจผ่านทางช่องคลอด มีข้อแตกต่างกัน เล็กน้อย คือ ถ้าตรวจทางหน้าท้อง ในกรณีอายุครรภ์น้อย ๆ ท่านอาจจำเป็น ต้องดื่มน้ำ ในปริมาณที่ท่านรู้สึก ปวดปัสสาวะ ทั้งนี้เพราะ ขณะนั้นกระเพาะปัสสาวะของท่านจะมีปัสสาวะอยู่เต็ม ทำให้มองเห็นเป็น สีดำ บนจอภาพได้ชัดเจน ซึ่งจะเป็นตัวที่ใช้ เปรียบเทียบกับอวัยวะใกล้เคียงได้อย่างดี ทำให้บอกลักษณะ ของอวัยวะข้างเคียงได้ดีขึ้น ส่วนการตรวจผ่านทางช่องคลอด ไม่จำเป็นต้องมีปัสสาวะ ในกระเพาะปัสสาวะ และแพทย์มักบอกให้ท่านถ่ายปัสสาวะให้หมดก่อนตรวจ

วีธีตรวจ

การตรวจทางหน้าท้อง ท่านจะได้รับ การเปิดผ้า บริเวณหน้าท้อง ส่วนที่ต้องการตรวจ หลังจากนั้นแพทย์ จะใช้สารเหลว ๆ คล้ายวุ้น หรือที่ เรียกว่า เจล (GEL) ทาที่บริเวณหน้าท้องที่จะตรวจ สารดังกล่าวจะช่วยเป็นสื่อ ให้คลื่นเสียง ที่ปล่อยจากหัวตรวจ และคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับจากอวัยวะที่ตรวจ สามารถส่งผ่าน ได้ดี ทําให้เห็นภาพ ได้ชัดขึ้น นอกจากนี้ยังทําให้ สามารถเคลื่อนหัวตรวจ ไปบนหน้าท้อง ได้สะดวกด้วย หลังจากนั้น แพทย์จะวาง หัวตรวจชนิดสี่เหลียมปลาบเรียบ หรือปลายโค้งมน แล้วแต่จุดประสงค์ของการตรวจ ลงไปบนบริเวณ ที่ต้องการตรวจแล้ว เคลื่อนหัวตรวจไปมาตาม แนวขวางจนทั่วช่องท้อง ซึ่งจะปรากฏภาพ ขึ้นบนจอภาพ จากภาพที่ได้แพทย์จะแปลผลและบันทึกผลการตรวจลงไปในใบรายงานผล

การตรวจผ่านทางช่องคลอด ท่านจะได้รับ คําแนะนํา ให้นอนหงายในลักษณะชันเข่าสูง โดยอาจมีหมอนรองให้สูงขึ้น จากนั้นแพทย์จะใช้หัว ตรวจชนิดเป็นแท่งยาว สอดเข้าไป ในช่องคลอด แล้วขยับไปมา เพื่อดูอวัยวะ ส่วนต่างๆ หลังจากนั้น ก็จะแปลผล และ บันทึกผลเข่นเดียวกับการตรวจหน้าท้อง

สรุป

การใช้อัลตรา ซาวนด์ ในการตรวจสตรีตั้งครรภ์ ทำให้ได้ข้อมูล ที่มีประโยชน์อย่างมากมาย ในการใช้ตัดสินใจ ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น การทำสูติศาสตร์หัตถการต่าง ๆ การพิจารณา ยุติการตั้งครรภ์ การเลือกช่องทางคลอดที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตราย ต่อสตรีตั้งครรภ์ และ ทารกในครรภ์ แต่ทั้งนี้การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ ควรจะทำโดยแพทย์ ที่มีความชำนาญ เพื่อลดข้อผิดพลาด ที่อาจจะ เกิดขี้นได้ เนื่องจากข้อผิดพลาดดังกล่าว อาจทำให้แพทย์ ตัดสินใจในการดูแลรักษา ที่อาจเป็นอันตราย ต่อสตรีตั้งครรภ์นั้นได้

" เรียบเรียงจากคู่มือสำหรับสตรีตั้งครรภ์ "การตรวจอัลตราซาวนด์ในสตรีตั้งครรภ์"

โดย นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ พรเพ็ญ ตันติศิรินทร์สาขาวิชาเวชศาสตร์มารดาและทารก ภาควิชาสูติ-นรีเวชวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล



ปฏิกิริยาของคุณ?