รู้เท่าทัน ป้องกันโรค RSV
รู้เท่าทัน ป้องกันโรค RSV
โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย


แนะผู้ปกครองสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระวังป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) โดยเฉพาะขณะนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ เน้นย้ำป้องกัน ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ส่วนการรักษาส่วนใหญ่ เป็นการรักษาตามอาการ หากไม่ดีขึ้นรีบไปพบแพทย์ทันที  

โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน อาการโดยทั่วไปอาจจะเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่อาการจำเพาะของเชื้อนี้ มักพบในเด็กเล็ก คือ หลอดลมฝอยอักเสบ โดยเริ่มแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจมีเสียงหวีด รับประทานอาหารได้น้อย และซึมลง ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ  

โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น

นายแพทย์เฉลิมพล  โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่  12  จังหวัดสงขลา    กล่าวถึง การป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ขอแนะนำผู้ปกครองและสถานศึกษาควรสังเกตอาการบุตรหลาน และเด็กนักเรียนอย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และสามารถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น ไม่ใช้แก้วน้ำหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รักษาสุขอนามัยส่วนตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อและการไปในสถานที่ที่ ผู้คนหนาแน่น ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ที่มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก

ส่วนผู้ที่ป่วยควรงดการออกนอกบ้าน ในช่วงที่ไม่สบาย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น และควรปิดปากปิดจมูกเวลาไอจามด้วยหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ หากเด็กมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อและพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

ที่มา : กรมควบคุมโรค ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?