มุมมอง
ในบางครั้งพ่อแม่อาจมองข้ามสิ่งที่ลูกถนัดหรือชอบ เพราะอาจมองว่าสิ่งที่วางแผนให้ลูกนั้นคือสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งความจริงแล้วการสนับสนุนลูกอย่างเหมาะสม ไม่เพียงแต่ทำให้ลูกมีความสุข แต่ยังช่วยเพิ่มศักยภาพของลูกให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วคุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนลูกให้ถูกทางได้อย่างไร
ปรับมุมมองสนับสนุนสิ่งที่ลูกถนัด
พ่อแม่ควรพิจารณาสิ่งที่ลูกชอบว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร หากเป็นกิจกรรมที่ส่งผลเสียมากกว่า เช่น การเล่นเกมหรือการใช้สื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม ก็ไม่ควรสนับสนุน แต่ถ้าเป็นกิจกรรมที่เกิดผลดี เช่น ศิลปะ กีฬา ฯลฯ ก็ควรทำความเข้าใจว่า กิจกรรมบางอย่างอาจจะเสริมทักษะ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ สมาธิ การแก้ปัญหานอกกรอบ ทักษะการสื่อสาร ฯลฯ ซึ่งลูกจะได้ทักษะที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการนั่งเรียนเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้พ่อแม่ไม่ควรคาดหวังและบังคับลูกในสิ่งที่ไม่ถนัด ควรจะเลือกมองในมุมที่ทำให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง เช่น ลูกอาจจะผลการเรียนไม่ได้ดีมาก แต่มีการดูแลช่วยเหลือตนเองได้ดี หรือมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น พ่อแม่ ควรคำนึงถึงจิตใจลูกเป็นหลัก ถ้าลูกไม่ชอบสิ่งใดก็ไม่ควรบังคับ แต่ชวนลูกมาสำรวจกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีหลากหลาย เพื่อจะได้พบกิจกรรมที่ชอบและทำร่วมกันอย่างมีความสุขได้
ค้นหาความถนัด แท้จริงในตัวลูก
1. เปิดโอกาส เปิดใจ
2. ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น ท่องเที่ยวที่แปลกใหม่
3. ดูหนังสือที่หลากหลาย เล่นเกมร่วมกัน ฯลฯ
4. สังเกตผลการเรียน วิชาที่ลูกทำคะแนนได้ดี
5. กระตุ้นและส่งเสริมให้ลูกดึงความถนัดออกมา ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ครอบคลุม เช่น ดนตรี กีฬา ฯลฯ
6. ทดสอบความถนัดกับผู้เชี่ยวชาญ
ผลดีเมื่อสนับสนุนลูกในสิ่งที่ชอบหรือถนัด
หากพ่อแม่สนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบหรือถนัด นอกจากช่วยให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) แล้วยังทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองได้ เนื่องจากกิจกรรมบางอย่างอาจจะช่วยเสริมทักษะที่ลูกไม่สามารถได้จากการเรียนอย่างเดียว เช่น ความคิดสร้างสรรค์ สมาธิการแก้ปัญหานอกกรอบ ทักษะการสื่อสาร ฯลฯ
ดังนั้นในช่วงก่อนวัยเรียน พ่อแม่ควรพาลูกไปทำกิจกรรมให้หลากหลายเพื่อสำรวจความชอบของลูก โดยหัวใจสำคัญคือ พ่อแม่จะต้องร่วมทำกิจกรรมไปกับลูก สนุกไปกับลูก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางจิตใจ ความใกล้ชิดและความอบอุ่นกับพ่อแม่ และเมื่อถึงวัยเรียนพ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกอยู่ในกรอบของการแบ่งเวลาให้เหมาะสม มีกติกาที่ตกลงร่วมกัน เช่น ทำหน้าที่ของตนเองก่อน ถึงจะทำสิ่งที่ชอบต่อไป หรือให้เวลาอิสระกับลูกในช่วงวันหยุด เมื่อไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ลูกชอบ พ่อแม่ไม่ควรใช้คำพูดที่ลดคุณค่าในตัวลูกหรือคำพูดที่ทำให้เสียใจ
ที่มา : SOOK Magazine เล่ม 73 หน้า 33 ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต