ปีบทอง สรรพคุณและประโยชน์
ปีบทอง สรรพคุณและประโยชน์
ต้นปีบทอง หรือ ต้นกาซะลองคำ มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่ในประเทศจีนตอนใต้ พม่า ลาว และเวียดนาม ส่วนในประเทศไทยพบได้ตั้งแต่ทางภาคใต้ในแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพชรบุรี อุทัยธานี ขึ้นไปถึงทางภาคเหนือของประเทศ จัดเป็นไม้ยืนต้นเล็กถึงขนาดกลาง


ปีบทอง สรรพคุณและประโยชน์

ปีบทอง ชื่อสามัญ Tree jasmine

ปีบทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Mayodendron igneum (Kurz) Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Radermachera ignea (Kurz) Steenis) จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)

สมุนไพรปีบทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จางจืด (เชียงใหม่), กาซะลองคำ กาสะลองคำ แคชาญชัย (เชียงราย), แคเป๊าะ สำเภาหลามต้น (ลำปาง), กากี (สุราษฎร์ธานี), สะเภา สำเภา อ้อยช้าง (ภาคเหนือ), ปีบทอง (ภาคกลาง), ปั้งอ๊ะมี (ม้ง), เดี้ยงด่งเบี้ยง (เมี่ยน), กาสะลอง (ทั่วไป) เป็นต้น[

หมายเหตุ : ปีบทองที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นปีบทองที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Radermachera hainanensis Merr.

ลักษณะของปีบทอง

ต้นปีบทอง หรือ ต้นกาซะลองคำ มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่ในประเทศจีนตอนใต้ พม่า ลาว และเวียดนาม ส่วนในประเทศไทยพบได้ตั้งแต่ทางภาคใต้ในแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพชรบุรี อุทัยธานี ขึ้นไปถึงทางภาคเหนือของประเทศ จัดเป็นไม้ยืนต้นเล็กถึงขนาดกลาง และเป็นไม้ผลัดใบแต่จะผลัดไม่พร้อมกัน มีความสูงของต้นประมาณ 6-20 เมตร ต้นมีเรือนยอดเป็นรูปใบหอกหรือไข่ ทรงพุ่มแน่นทึบ กิ่งก้านแผ่ออกเป็นชั้น ๆ ออกกว้าง ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง ตามกิ่งก้านและตามลำต้นจะมีรูระบายอากาศกระจายอยู่ทั่วไป เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นลายประสานกันคล้ายตาข่าย เปลือกต้นขรุขระเป็นเม็ดเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำกิ่ง และการแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ตามชายดิบแล้งตามเชิงเขา และตามเขาหินปูน ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร

ใบปีบทอง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกแบบสามชั้น ยาวประมาณ 18-60 เซนติเมตรเรียงตรงข้ามกัน มีใบประกอบย่อยประมาณ 3-4 คู่ ส่วนใบย่อยมีประมาณ 3-5 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปหอก รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปวงรีแกมใบหอก ปลายใบแหลมบางครั้งยาวคล้ายหางหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลมสอบ หรือบางใบโคนในอาจเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบบิดเป็นคลื่น ๆ เล็กน้อย และมักมีต่อมอยู่ที่โคนด้านหลังของใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเป็นมัน ท้องใบมีต่อมเล็ก ๆ อยู่ประปรายทั่วไป และก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร ส่วนก้านใบปลายยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร

ดอกปีบทอง ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ หรือออกเป็นช่อกระจุกทั่วไปตามกิ่งก้านและตามลำต้น ในหนึ่งกระจุกจะมีดอกอยู่ประมาณ 3-10 ดอก และจะทยอยบานครั้งละ 3-5 ดอก ดอกมีก้านช่อดอกสีน้ำตาลอมสีแดงและมีขนอ่อน ๆ ขึ้นอยู่ประราย ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยังมีกลีบเลี้ยงหรือกลีบรองดอกที่เป็นสีน้ำตาลอมสีแดง ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีรอยผ่าเปิดด้านเดียว ด้านหน้าตามทางยาวติดกันเป็นหลอดห่อหุ้มกลีบดอก ส่วนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอกโคนแคบ ตรงกลางค่อย ๆ โป่งออก หรือเป็นรูปกรวยหรือเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังยาว ปลายกลีบดอกแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ มีลักษณะบานแผ่และม้วนลงด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 4 อัน โผล่ออกมาเสมอปากกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้มีขนขึ้นปกคลุม ส่วนยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 2 แฉก เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร โดยดอกจะบานอยู่ประมาณ 1-2 วัน แล้วจะร่วงหล่นและดอกใหม่ก็จะทยอยบานขึ้นมาแทนที่

ผลปีบทอง ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปฝักดาบยาวและห้อยลง หรือเป็นรูปทรงกระบอกยาวเรียวคล้ายกับฝักของถั่วฝักยาว ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 30-45 เซนติเมตร ฝักเมื่อแก่จะบิดเวียนเป็นเกลียวเล็กน้อย เมื่อฝักแห้งจะแตกได้เป็นพู 2 พู หรือ 2 ซีก ภายในฝักมีแกนทรงกระบอกเล็ก ๆ ยาวเรียวซึ่งเป็นที่อยู่ของเมล็ด เมื่อฝักแห้งจะแตกออกและเมล็ดจะปลิวไปตามลม เมล็ดเป็นเมล็ดแห้ง แบน บาง และมีปีกเป็นเยื่อบาง ๆ สีขาว ยาวออกทางด้านข้าง ขอบปีกเสมอกับตัวเมล็ด และมีขนาดกว้างประมาณ 0.2-1.0 เซนติเมตร

ภาพจาก : vivatchaipicture.wordpress.com

สรรพคุณและประโยชน์ของปีบทอง

  1. ลำต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น (ลำต้นกาซะลองคำ, ต้นขางปอย, ต้นขางน้ำข้าว, ต้นขางน้ำนม, ต้นอวดเชือก) ใช้ฝนกับน้ำกินแก้ซาง (ลำต้น)
  2. ลำต้นใช้แก้ซางในเด็กที่มักจะมีเม็ดขึ้นในปากและลำคอ (ลำต้น)
  3. ช่วยแก้ลิ้นเป็นฝ้า (ลำต้น)
  4. ช่วยรักษาอาการปวดฟัน (เปลือกต้น)
  5. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาลดไข้ (เปลือกต้น)
  6. ช่วยแก้อาการตัวร้อน (ลำต้น)
  7. ช่วยแก้อาเจียน (ลำต้น)
  8. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำใช้อมแก้อาการเมายา (เปลือกต้น)
  9. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือกต้น)
  10. ลำต้นใช้เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องเดิน (ลำต้น)
  11. ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาหรือพอกรักษาแผลสด แผลถลอก และช่วยห้ามเลือด (ใบ)
  12. เปลือกใช้เป็นยาใส่แผล (ไม่ได้บอกวิธีใช้)
  13. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง โรคเรื้อน (เปลือกต้น)
  14. สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : pantip



ปฏิกิริยาของคุณ?