กระเบา สรรพคุณและประโยชน์
กระเบา  สรรพคุณและประโยชน์
ต้นกระเบา มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร รูปทรงสูงโปร่ง ลำต้นเปลาตรง เปลือกลำต้นเรียบและเป็นสีเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด


กระเบา สรรพคุณและประโยชน์

กระเบา ชื่อสามัญ Chaulmoogra

กระเบา ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydnocarpus anthelminthicus Pierre ex Laness. ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในวงศ์ ACHARIACEAE

สมุนไพรกระเบา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระเบา กระเบาน้ำ กระเบาข้าวแข็ง กระเบาข้าวเหนียว กระตงดง (เชียงใหม่), ดงกะเปา (ลำปาง), กระเบาใหญ่ (นครราชสีมา), หัวค่าง (ประจวบคีรีขันธ์), เบา (สุราษฎร์ธานี), กุลา กาหลง (ปัตตานี), มะกูลอ (ภาคเหนือ), กระเบาเบ้าแข็ง กระเบาใหญ่ กาหลง แก้วกาหลง (ภาคกลาง), เบา (ภาคใต้), กระเบาตึก (เขมร), ตัวโฮ่งจี๊ (จีน), ต้าเฟิงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของต้นกระเบา

ต้นกระเบา มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร รูปทรงสูงโปร่ง ลำต้นเปลาตรง เปลือกลำต้นเรียบและเป็นสีเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคตามป่าดิบและตามป่าบุ่งป่าทามที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 30-1,300 เมตร

ใบกระเบา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะใบเป็นรูปรียาวแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นมัน สีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบไม่ลื่นและมีสีอ่อนกว่า เนื้อใบทึบแข็งมีลักษณะกรอบ มีเส้นใบประมาณ 8-10 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นลายร่างแหมองเห็นได้ชัดเจน ใบอ่อนเป็นสีชมพูแดง ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร

ดอกกระเบา ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ต้นตัวผู้จะเรียกว่า “แก้วกาหลง” ส่วนต้นตัวเมียจะเรียกว่า “กระเบา” ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ บ้างว่าออกดอกเป็นช่อมีสีขาวนวล ในช่อหนึ่งมีประมาณ 5-10 ดอก ดอกมีกลิ่นหอมฉุน มีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ดอกเพศผู้เป็นสีชมพู มีกลีบดอก 5 กลีบและมีกลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ มีขน ส่วนดอกเพศเมียออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีลักษณะเหมือนกับดอกเพศผู้ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน บ้างก็ว่าจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน (ภาพแรกคือดอกเพศผู้ (แก้วกาหลง), ส่วนภาพสองคือดอกเพศเมีย (กระเบา))
แก้วกาหลงดอกกระเบา

ผลกระเบา ผลใหญ่มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร เปลือกผลหนาแข็งเป็นสีน้ำตาล ผิวผลมีขนคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาล เนื้อในผลเป็นสีขาวอมเหลือง ข้างในผลมีเมล็ดสีดำอัดแน่นรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณ 30-50 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะรีหรือรูปไข่เบี้ยว ปลายมนทั้งสองข้าง กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-1.9 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน และจะเป็นผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฏาคม

ภาพจาก : คลังสมุนไพร.com

สรรพคุณและประโยชน์ของกระเบา

  1. ผลใช้รักษามะเร็ง (ผล)
  2. เมล็ดมีรสเผ็ดร้อนและขม ใช้เป็นยาร้อน มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม และไต ใช้เป็นยาขับลม ขับพิษ (เมล็ด)
  3. ช่วยดับพิษทั้งปวง (รากและเนื้อไม้)
  4. ช่วยแก้เสมหะเป็นพิษ (รากและเนื้อไม้)
  5. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)
  6. รากและเนื้อไม้มีรสเบื่อเมา ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนังต่าง ๆ (รากและเนื้อไม้)
  7. ช่วยรักษาบาดแผล (รากและเนื้อไม้)
  8. ช่วยแก้พิษบาดแผลสด (ใบ)
  9. ใบมีรสเบื่อเบา ใช้ฆ่าพยาธิบาดแผล (ใบ)
  10. ใบใช้แก้กลากเกลื้อน (ใบ) ส่วนเมล็ดก็ใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อนได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยแก้หิดได้อีกด้วย (เมล็ด)
  11. ผลและเมล็ดมีรสเมาเบื่อมัน ใช้แก้โรคผิวหนังต่าง ๆ (ผล, เมล็ด) ตำรายาไทยใช้น้ำมันที่บีบจากเมล็ดเพื่อรักษาโรคผิวหนังอื่น ๆ (เมล็ด) หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 5-10 เมล็ด นำมาแกะเปลือกออก แล้วนำมาตำให้ละเอียด เติมน้ำมันพืชลงไปพอควรและคลุกให้เข้ากัน จากนั้นก็นำมาใช้ทาแก้โรคผิวหนัง (เมล็ด)
  12. ผลช่วยรักษาโรคเรื้อน (ผล) ส่วนตำรายาไทยระบุว่าใช้น้ำมันที่บีบจากเมล็ดในการรักษาโรคเรื้อน (เมล็ด)[3] หรือจะใช้น้ำมันจากเมล็ด 3 มล., น้ำ 160 มล., น้ำนมอุ่น 30 มล., น้ำเชื่อม 40 มล. แล้วนำทั้งหมดมาผสมกัน ใช้ดื่มหลังอาหารวันละ 3 เวลาจะช่วยแก้โรคเรื้อนได้ (น้ำมันจากเมล็ด)
  13. เมล็ดนำมาหุงเป็นน้ำมันทาภายนอก ใช้สำหรับทาผมและรักษาโรคผมร่วง (เมล็ด)
  14. ใช้แก้อาการปวดบวมตามข้อ (น้ำมันจากเมล็ด)
  15. ใช้ปรุงเป็นยารักษาอีสุกอีใส ด้วยการใช้กระเบา 50 กรัมและกระเทียม 20 กรัม นำมาตำผสมกับน้ำ 100 cc. แล้วนำมาต้มให้เดือดนาน 5 นาที แล้วนำมาใช้ทาแผลตามร่างกาย ซึ่งจากการทดลองในคนไข้จำนวน 50 คน และใช้ทาเพียงครั้งเดียวพบว่าคนไข้ทั้งหมดมีอาการที่ดีขึ้น (เข้าใจว่าใช้ส่วนของเมล็ด)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : kaijeaw



ปฏิกิริยาของคุณ?