กระดังงาสงขลา สรรพคุณและประโยชน์
กระดังงาสงขลา สรรพคุณและประโยชน์
ต้นกระดังงาสงขลา มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยที่จังหวัดสงขลา และมีความแตกต่างกับต้นกระดังงาไทยก็คือ ต้นกระดังงาไทยนั้นเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงประมาณ 8-15 เมตร ส่วนต้นกระดังงาสงขลานั้นจะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นไม่เกิน 4 เมตร โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2.5 เมตร


กระดังงาสงขลา สรรพคุณและประโยชน์

กระดังงาสงขลา ชื่อสามัญ Ilang.-Ilang., Drawf ylang ylang[

กระดังงาสงขลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Canangium fruticosum Craib (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cananga odorata var. fruticosa (Craib) J.Sinclair, Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson var. fruticosa (Craib) J.Sinclair, Cananga odorata Hook.f. & Thomson var. fruticosa (Craib) Corner) จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) เช่นเดียวกับกระดังงาไทย

สมุนไพรกระดังงาสงขลา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดังงาสาขา (กรุงเทพฯ), กระดังงางอ (ยะลา-มลายู), กระดังงาเบา (ภาคใต้), กระดังงอ (มาเลย์-ยะลา), ดังงา เป็นต้น

ลักษณะของกระดังงาสงขลา

ต้นกระดังงาสงขลา มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยที่จังหวัดสงขลา และมีความแตกต่างกับต้นกระดังงาไทยก็คือ ต้นกระดังงาไทยนั้นเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงประมาณ 8-15 เมตร ส่วนต้นกระดังงาสงขลานั้นจะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นไม่เกิน 4 เมตร โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2.5 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 1-4 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลและมีกลิ่นฉุน เนื้อไม้เปราะ ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทึบ กิ่งตั้งฉากกับลำต้นปลายย้อยลู่ลง ที่กิ่งมีขนอ่อน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมกันมาก และอีกวิธีคือการตอนกิ่ง แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากกิ่งเปราะและหักได้ง่าย โดยต้นกระดังงาสงขลาที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะเจริญเติบโตได้ดีและมีความแข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าต้นที่เกิดจากการตอน แต่การออกดอกจะช้ากว่าต้นที่ได้จากการตอน เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ระบายน้ำดี มีความชื้นสูง ต้องการน้ำมาก แต่ไม่ทนต่อน้ำท่วมขัง ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน หากปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดแบบรำไรจะออกดอกน้อยและไม่แข็งแรง

ใบกระดังงาสงขลา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าหรือเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวบางและอ่อน มีเส้นแขนงของใบประมาณ 8-9 คู่ สามารถมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน และมีก้านใบยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร

ดอกกระดังงาสงขลา ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งตรงข้ามกับใบ ดอกเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรง ในหนึ่งดอกจะมีกลีบดอกประมาณ 15-24 กลีบ ในแต่ละกลีบจะมีความกว้างประมาณ 0.5-1.8 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร เรียงเป็นชั้นหลายชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบมีลักษณะเรียวยาว บิดเป็นเกลียวและอ่อนนิ่ม ปลายกลีบแหลมและกระดกขึ้น กลีบชั้นนอกจะยาวและใหญ่กว่ากลีบชั้นในตามลำดับ ดอกมีเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียจำนวนมาก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม มีความกว้างประมาณ 6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร สามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี ดอกที่ยังอ่อนหรือที่เป็นสีเขียวอ่อนจะยังไม่มีกลิ่นหอม ดอกที่มีสีเหลืองถึงจะมีกลิ่นหอม และที่สำคัญช่วงที่มีอุณหภูมิสูง เช่น ตอนกลางวัน ดอกจะไม่ค่อยส่งกลิ่นหอมเท่ากับช่วงตอนเช้าและเย็น

ผลกระดังงาสงขลา ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 8-10 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี ปลายผลแหลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ในผลมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด

ภาพจาก bloggang.com

สรรพคุณและประโยชน์ของกระดังงาสงขลา

  1. ตำรายาไทยระบุว่าดอกใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)
  2. ช่วยบำรุงร่างกาย (ดอก)
  3. ช่วยชูกำลัง (ดอก)
  4. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (ดอก)
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เกสร)
  6. ดอกใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ดอก)
  7. ดอกมีรสสุขุมหอม ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (ดอก) ช่วยบำรุงหัวใจให้สดชื่น ทำให้ใจชุ่มชื่น (ดอก)
  8. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ดอก) ส่วนเกสรช่วยแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อลม แก้ไข้เพื่อปถวีธาตุ แก้โรค (เกสร)
  9. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (เกสร)
  10. ช่วยแก้ลมวิงเวียน (ดอก)
  11. ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ดอก)
  12. เนื้อไม้มีรสขมและเฝื่อน ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เนื้อไม้, ต้น, กิ่ง, ก้าน)
  13. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ (เนื้อไม้, ต้น, กิ่ง, ก้าน)
  14. รากมีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด (ราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : nanagarden



ปฏิกิริยาของคุณ?