มุมมอง
งิ้วแดง สรรพคุณและประโยชน์
งิ้ว ชื่อสามัญ Cotton tree, Kapok tree, Red cotton tree, Silk cotton, Shving brush
งิ้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Bombax ceiba L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bombax malabaricum DC., Gossampinus malabarica Merr.) จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย BOMBACOIDEAE
สมุนไพรงิ้ว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า งิ้วบ้าน (ทั่วไป), งิ้วแดง (กาญจนบุรี), งิ้วปง งิ้วปกแดง สะเน้มระกา (ชอง-จันทบุรี), งิ้วป่า, งิ้วปงแดง, งิ้วหนาม, นุ่นนาง, ตอเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ปั้งพัวะ (ม้ง), บักมี้ (จีน) เป็นต้น
ชนิดของต้นงิ้ว
ต้นงิ้ว หรือ งิ้วป่า จัดเป็นพืชในสกุล Bombax ในประเทศมีรายงานว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่
ชนิดที่ 1 “งิ้ว” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax ceiba L. (กล่าวในบทความนี้)
ชนิดที่ 2 “งิ้วป่าดอกแดง” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax insigne Wall.
ชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax anceps Pierre และยังสามารถแยกออกได้อีก 2 ชนิดย่อย ได้แก่
- “งิ้วป่า” (งิ้วป่าดอกขาว) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax anceps Pierre var. anceps* (ชื่อวิทยาศาสตร์ไม่แน่ชัด)
- “ง้าว” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax anceps var. cambodiense (Pierre) Robyns
ลักษณะของต้นงิ้ว
ต้นงิ้ว จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกว้างถึงขนาดใหญ่ ลักษณะของต้นเป็นรูปทรงพุ่มเป็นรูปไข่ มีความสูงของลำต้นประมาณ 15-25 เมตร (บ้างว่าสูงประมาณ 25-30 เมตร) และความกว้างของทรงพุ่มประมาณ 15 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรงและมีหนามอยู่ทั่วลำต้นและกิ่ง เห็นข้อปล้องไม่ชัดเจน ต้นอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด โดยจะพบขึ้นในที่ราบและตามป่าเบญจพรรณ ตามเชิงเขาและไหล่เขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-600 เมตร ซึ่งในปัจจุบันต้นงิ้วจะหาดูได้ยากมาก จะมีปลูกเฉพาะถิ่นทางภาคเหนือไม่กี่ที่เท่านั้น
ใบงิ้ว ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อยประมาณ 3-7 ใบเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีถึงรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว และยาวประมาณ 6-10 นิ้ว ใบสีเขียวไม่มีขน แผ่นใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยง ก้านช่อใบยาว โคนก้านบวมเล็กน้อย
ดอกงิ้ว ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามปลายกิ่งหรือตามปลายยอด ดอกมีขนาดใหญ่สีชมพูแกมเลือดหมู สีแดง สีแสด และมีที่เป็นสีทองแต่หาได้ยาก ดอกมีกลิ่นหอมเอียน ออกดอกเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 3-5 ดอก ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยแข็ง ๆ หรือเป็นกลีบเลี้ยงติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบขนาดเล็ก สีเขียวอ่อน ส่วนกลีบดอกมีขนาดใหญ่และหนา มี 5 กลีบเป็นรูปขอบขนาน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ปลายกลีบจะแผ่ออกและม้วนกลับมาทางขั้วของดอก หลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาวจำนวนมาก เรียงกระจายเป็นวงรอบ สีขาวปนสีชมพู ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน สีชมพู บริเวณปลายเป็นจุดสีเข้มมีความเหนียว ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ โดยจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนมกราคมต่อเนื่องเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และจะทิ้งใบก่อนมีดอก
ผลงิ้ว หรือ ฝักงิ้ว ผลมีลักษณะยาวรีคล้ายฝักรูปทรงกระบอก ที่ปลายทั้งสองข้างของผลจะแหลม ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล เปลือกของผลแข็ง มีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว และเมื่อแก่จัดจะแตกอ้าออกตามรอยประสาน ในผลมีเส้นหรือปุยสีขาวและมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปทรงกลมสีดำ และถูกห่อหุ้มด้วยปุยฝ้ายสีขาว ๆ สามารถปลิวไปตามลมได้ไกล
สารเคมีที่พบ : เปลือกต้นมีสารที่สกัดด้วยน้ำอยู่ 9.92% ในใบมี condensed tannins ส่วนรากมีโปรตีน, แป้ง, ไขมัน, arabinose, galactose, gum และ tannins ส่วนเปลือก ราก จะมีพวกเกลือแร่ ไขมัน โปรตีน แป้ง และความชื้นอยู่ 7.5% ในเมล็ดมีน้ำมันประมาณ 24-25% และในยางมีเกลือแร่ 8.9%
สรรพคุณและประโยชน์ของต้นงิ้ว
- รากใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)
- ยางใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ยาง)
- ช่วยแก้โรคมะเร็ง (เมล็ด)
- เปลือกต้นช่วยบำรุงระบบการไหลเวียนของโลหิต (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้เปลือกต้นงิ้วแดง 1 กิโลกรัม นำมาล้างให้สะอาดและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปใส่ในหม้อต้มยาสมุนไพร เติมน้ำสะอาดลงไป 5 ลิตรและต้มจนเดือด แล้วให้รินเอาแต่น้ำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 มิลลิเมตร) วันละ 2 ครั้งทุกเช้าและเย็น (น้ำงิ้วที่ได้จะมีสีแดงเหมือนน้ำกระเจี๊ยบ) (เปลือกต้น)
- ดอกแห้งใช้ทำเป็นยาแก้พิษไข้ได้ดีมาก (ดอก) ส่วนหนามมีสรรพคุณแก้ไข้ ลดความร้อน ดับพิษร้อน (หนาม) ช่วยแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ (หนาม)
- ช่วยระงับประสาท (ดอก)
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ดอก)
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาทำให้อาเจียนถอนพิษ (ราก,เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมในคออักเสบ (ใบ)
- ช่วยแก้ต่อมน้ำลายอักเสบ (ใบ)
- ช่วยรักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง (เปลือกต้น,ราก)
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย ลงท้อง (เปลือกต้น,ราก,ดอก,ผล) บรรเทาอาการท้องเดิน (เปลือกต้น,ดอก)
- เปลือกต้นช่วยแก้บิด (เปลือกต้น,ดอก,ยาง) แก้บิดมูกเลือด (ดอก ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าดอกแดงจะใช้แก้บิดเลือด (บิดถ่ายเป็นเลือด) ให้นำดอกมาต้มเป็นน้ำชาผสมกับน้ำตาลทรายแดง ใช้ดื่มตอนท้องว่างวันละ 3 ครั้ง ส่วนดอกเหลืองจะใช้แก้บิดมูก ให้ใช้ดอกเหลืองหรือส้มที่เป็นดอกแห้ง เข้าใจว่าใช้ต้มเป็นน้ำชาดื่ม
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง โดยใช้ดอกตากแห้งนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ยางจากต้น,เปลือกต้น,ดอก)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , medthai
ภาพจาก : dnp.go.th