หญ้าคา สรรพคุณและประโยชน์
หญ้าคา สรรพคุณและประโยชน์
ต้นหญ้าคา จัดเป็นพืชจำพวกหญ้า มีลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นเส้นกลมสีขาวทอดยาว มีข้อชัดเจน ผิวเรียบ หรืออาจมีขนอยู่บ้างเล็กน้อย สามารถแตกกิ่งก้านสาขา เลื้อยแผ่และงอกไปเป็นกอใหม่ ๆ ได้มากมายหลายกอ โดยหญ้าคาจัดเป็นวัชพืชที่ชอบแสงแดดและมีความทนทานสูงมาก


หญ้าคา สรรพคุณและประโยชน์

หญ้าคา ชื่อสามัญ Alang-alang, Blady grass (หญ้าใบมีด), Cogongrass, Japanese bloodgrass, Kunai grass, Lalang, Thatch grass

หญ้าคา ชื่อวิทยาศาสตร์ Imperata cylindrica (L.) Raeusch. จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)

สมุนไพรหญ้าคา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าหลวง หญ้าคา (ทั่วไป), สาแล (มลายู-ยะลา-ตานี), กะหี่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), บร่อง (ปะหล่อง), ทรูล (ลั้วะ), ลาลาง ลาแล (มะลายู), แปะเม่ากึง เตี่ยมเซากึง (จีน-แต้จิ๋ว), คา แฝกคา ลาแล เก้อฮี เป็นต้น

หมายเหตุ : หญ้าคาเป็นพืชคนละชนิดกันกับหญ้าแฝก (Chrysopogon zizanioides (L.) Roberty)

ลักษณะของหญ้าคา

ต้นหญ้าคา จัดเป็นพืชจำพวกหญ้า มีลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นเส้นกลมสีขาวทอดยาว มีข้อชัดเจน ผิวเรียบ หรืออาจมีขนอยู่บ้างเล็กน้อย สามารถแตกกิ่งก้านสาขา เลื้อยแผ่และงอกไปเป็นกอใหม่ ๆ ได้มากมายหลายกอ โดยหญ้าคาจัดเป็นวัชพืชที่ชอบแสงแดดและมีความทนทานสูงมาก เผากำจัดหรือทำลายได้ยาก ยิ่งเผาทำลายก็เหมือนไปช่วยกระตุ้นให้มันงอกมากขึ้น ทำให้ออกดอกแพร่พันธุ์มากยิ่งขึ้นไปอีก จึงกลายเป็นวัชพืชที่ลุกลามไปตามท้องไร่หรือพื้นที่ต่าง ๆ และกำจัดได้ยากชนิดหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นวัชพืชที่แก่งแย่งธาตุอาหารและน้ำกับพืชที่ปลูก และยังปลดปล่อยสารธรรมชาติบางชนิดที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่น ๆ ซึ่งสามารถพบได้ตามท้องทุ่งทั่วไป ตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ตามหุบเขา และตามริมทางทั่วไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพืชชนิดนี้จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด แต่ก็ยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยลำต้นใต้ดินได้ด้วยเช่นกัน

ใบหญ้าคา ใบแตกออกมาจากลำต้นที่อยู่ใต้ดิน ลักษณะของใบแบนเรียวยาว ใบมีความยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 5-9 มิลลิเมตร ตอนแตกใบอ่อนใหม่ ๆ จะมีปลอกหุ้มแหลมแข็งที่ยอดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรงอกแทงขึ้นมาจากดิน

ดอกหญ้าคา ออกดอกเป็นช่อรูปทรงกระบอก มีความยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีดอกย่อยอยู่ติดกันแน่น เมื่อแก่จะเป็นขนฟูสีขาว และเมล็ดจะหลุดร่วงและปลิวไปตามสายลม และแพร่กระจายพันธุ์ไปได้ไกล ๆ โดยหญ้าคาที่ขึ้นอยู่ตามทุ่งหญ้าจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน ส่วนหญ้าคาที่ขึ้นตามที่ชื้นแฉะจะออกดอกในช่วงปลายฤดูร้อนหรือฤดูหนาว

ผลหญ้าคา หรือ เมล็ดหญ้าคา เมล็ดเป็นผลแห้ง ไม่แตก มีลักษณะเป็นรูปรี เมล็ดมีสีเหลือง เมล็ดแก่จะหลุดปลิวไปตามลม สามารถแพร่ขยายพันธุ์ไปได้ไกล และในหนึ่งต้นสามารถผลิตเมล็ดได้มากถึง 3,000 เมล็ด

ภาพจาก prayod.com

การเก็บมาใช้และวิธีการใช้สมุนไพรหญ้าคา

  • ช่อดอกหญ้าคา ให้เด็ดมาทั้งก้านตอนดอกบานในช่วงฤดูร้อนหรือหนาว จะใช้สด ๆ หรือตากแห้งเก็บไว้ใช้ก็ได้ ใช้ช่อดอกแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หากใช้เป็นยาภายนอกให้นำมาตำแล้วพอกหรืออุดที่รูจมูก
  • ขน (ดอกแก่) ให้เก็บเมื่อช่อดอกแก่เต็มที่แล้ว โดยจะมีลักษณะเป็นสีขาวฟู เก็บมาได้ก็ให้นำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ ใช้ภายใน ให้ใช้ขนแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หากใช้เป็นยาภายนอกให้นำมาตำแล้วพอกหรืออุดที่รูจมุก
  • ใบหญ้าคา ตัดแล้วนำมาผึ่งให้แห้ง เก็บไว้ใช้ได้ หากใช้ภายนอกให้นำมาแช่หรือต้มกับน้ำอาบ
  • รากหญ้าคา ให้เก็บในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว ให้ตัดส่วนที่อยู่เหนือดินทิ้ง แล้วขุดเอาแต่รากหรือลำต้นที่อยู่ใต้ดินนำมาล้างให้สะอาด และขูดเอารากที่เป็นฝอย ๆ ออก จะใช้สดหรือนำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ก็ได้ ใช้ภายใน ให้นำรากแห้งใช้ประมาณ 10-15 กรัม ถ้าเป็นรากสดให้ใช้ประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือคั้นเอาน้ำกิน หากใช้ภายนอกให้นำมาบดเป็นผง
ภาพจาก disthai.com

สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าคา

  1. ในประเทศจีนใช้หญ้าคาเป็นยาบำรุงกำลังหลังจากการฟื้นไข้ และยังใช้เป็นยาห้ามเลือดและลดอาการไข้อีกด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  2. สรรพคุณหญ้าคา ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง (ราก)
  3. ผลใช้กินเป็นยาสงบประสาท (ผล)
  4. รากใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาโรคตานขโมย (ราก)
  5. รากช่วยแก้ไข้ แก้อาการไอ (ราก) ส่วนดอกช่วยแก้อาการไอ (ดอก)
  6. ชาวซูลูใช้หญ้าคาเพื่อช่วยแก้อาการสะอึก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  7. ช่วยแก้โรคมะเร็งคอ (ต้น)
  8. ช่วยแก้หอบ ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1 กำมือและเปลือกของต้นหม่อนอย่างละเท่ากัน ใส่ในน้ำ 2 ชามแล้วต้มจนเหลือ 1 ชาม แล้วเอาน้ำที่ได้มากิน (ราก)
  9. รากหญ้าคาช่วยแก้เลือดกำเดาไหล เลือดกำเดาออกง่ายหรือออกมาไม่ค่อยหยุด ด้วยการใช้ช่อดอกแห้งประมาณ 15 กรัม และจมูกหมู 1 อัน นำมาต้มให้เดือดประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้รับประทานหลังอาหารหลายครั้ง อาจทำให้หายขาดได้ หรือจะใช้ขน (ดอกแก่) นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้รากแห้งบดเป็นผงประมาณ 2.6 กรัม นำมาผสมกับน้ำซาวข้าวใช้กิน หรือจะใช้รากสดประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มในขณะที่เลือดกำเดาไหล หรือจะใช้น้ำคั้นสดดื่มกินประมาณ 1 ถ้วยชา (15 มิลลิกรัม) ก็ได้ และถ้าจะใช้เป็นยาห้ามเลือดกำเดาก็ให้ใช้ช่อดอกหรือขนนำมาตำแล้วอุดที่รูจมูก (ดอก, ขน (ดอกแก่), ราก)
  10. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (ช่อดอก, ราก)
    ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่มเป็นประจำ (ราก)
  11. สรรพคุณของรากหญ้าคา ช่วยแก้ปัสสาวะขัด ด้วยการใช้รากสดประมาณ 500 กรัม นำมาลอกเปลือกที่อยู่ระหว่างข้อออก แล้วหั่นเป็นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วยใหญ่ และต้มให้เดือดประมาณ 10 นาทีจนให้รากจมน้ำหมด หลังจากนั้นให้แยกเอากากออก ใช้รินกินขณะยังอุ่น ๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย วันละ 5-6 ครั้ง และกลางคืนอีก 2-3 ครั้ง กินต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง แล้วปัสสาวะจะถูกขับออกมามากขึ้น (ราก)
  12. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัมแล้วนำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะผสมกับรากบัว (ประมาณ 15 กรัม) ร่วมด้วย แล้วนำมาต้มกับน้ำกินก็ได้เช่นกัน (ราก)
  13. ช่วยแก้พิษอักเสบในกระเพาะอาหาร (ราก)
  14. ช่วยแก้โรคมะเร็งในลำไส้ (ดอก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : samunpri



ปฏิกิริยาของคุณ?