มุมมอง
อะราง สรรพคุณและประโยชน์
อะราง ชื่อสามัญ Copper pod
อะราง ชื่อวิทยาศาสตร์ Peltophorum dasyrrhachis (Miq.) Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baryxylum dasyrrhachis Pierre, Caesalpinia dasyrhachis Miq., Peltophorum dasyrhachis (Miq.) Baker, Peltophorum dasyrhachis var. dasyrhachis, Peltophorum dasyrrhachis var. dasyrrhachis) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
สมุนไพรอะราง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ช้าขม จ๊าขาม (เลย), ร้าง อะล้าง (นครราชสีมา, อุดรธานี), อินทรี (จันทบุรี), คางรุง คางฮุ่ง (พิษณุโลก), กว่าแซก (เขมร-กาญจนบุรี), ตาแซก (เขมร-บุรีรัมย์), ราง (ส่วย-สุรินทร์), นนทรี (ภาคกลาง) เป็นต้น (บ้างเรียกว่า นนทรีป่า (ฉะเชิงเทรา), ซ้าขม (เลย ), กร่าเซก (เขมร-กาญจนบุรี), คางรุ้ง (พิษณุโลก), ตาเซก (เขมร-บุรีรัมย์) เป็นต้น
ลักษณะของต้นอะราง
ต้นอะราง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร ต้นเล็กมักจะแตกกิ่งต่ำ แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะมีลักษณะเปลาตรง มีเรือนยอดเป็นรูปทรงกลมทึบ เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาล (บ้างว่าสีเทาหรือเทาอมน้ำตาล) เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ทั่วไป หรือแตกเป็นร่องตามยาวแบบตื้น ๆ เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลปนแดง ทีกิ่งและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคลุมอยู่หนาแน่น มักขึ้นเป็นกลุ่มตามชายป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคเหนือ และขึ้นตามป่าโปร่งชื้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และมีเขตการกระจายพันธุ์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินโดนีเซีย
ใบอะราง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับกัน ช่อใบมีความยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร มีช่อใบแขนงด้านข้างอยู่ตรงข้ามกันประมาณ 5-9 คู่ ในแต่ละช่อจะมีใบย่อยเล็ก ๆ ออกตรงข้ามกันคล้ายกับใบกระถิน โดยในแต่ละช่อใบจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 6-18 คู่ ซึ่งลักษณะของใบย่อยจะเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 10-25 มิลลิเมตร ปลายใบมนเว้าตื้นตรงกลาง โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนเกลี้ยงและเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสีน้ำตาลอยู่ประปราย ที่ใบย่อยไม่มีก้านใบ
ดอกอะราง ออกดอกเป็นช่อแบบห้อยระย้าลงสู่พื้นดิน โดยออกตามซอกใบ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีลักษณะตูมเป็นรูปไข่ กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ส่วนดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายมน โคนเรียว เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร และดอกอะรางจะบานในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม
ผลอะราง มีผลเป็นฝักแบน ผิวเรียบ ลักษณะของผลเป็นรูปบรรทัดแกมรูปหอก ขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ปลายและโคนผลสอบแหลม ผลเมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาลแดงและแตกออกเป็นสองซีก (บ้างก็ว่าจะไม่แตกอ้าออกจากกัน) และมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด (ประมาณ 4-8 เมล็ด) เมล็ดมีลักษณะแบนเรียงตัวตามขวางของฝัก โดยจะออกผลในช่วงเดือนสิงหาคม
สรรพคุณและประโยชน์ของอะราง
- เปลือกต้นมีรสฝาด ใช้รับประทานรักษาโรคเกี่ยวกับโลหิต (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้รับประทานเป็นยากล่อมเสมหะ รักษาโรคเกี่ยวกับเสมหะ (เปลือกต้น)
- ใช้เป็นยาช่วยขับลม (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้ต้มดื่มแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น)
- นิยมใช้ปลูกเป็นไม้เบิกนำ เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว จึงเหมาะสำหรับการปลูกเพื่อฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม
- ต้นอะรางสามารถนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีลักษณะของทรงพุ่มที่สวยงาม ดอกสวยมีสัน ทนความแล้งได้ดี ลักษณะโดยรวมคล้ายกับต้นนนทรี แต่ช่อดอกจะห้อยลง เหมาะแก่การปลูกในพื้นที่กว้าง หรือเป็นไม้ให้ร่มเงาตามสวนสาธารณะ ริมถนน ทางเดิน ที่จอดรถ ตามรีสอร์ท หรือริมทะเล ฯลฯ
- เปลือกต้นที่มีอายุมากใช้รับประทานได้ โดยขุดผิวด้านในออกมาแล้วสับให้ละเอียด ใส่ในส้มตำร่วมกับสับปะรดและมดแดง
- เปลือกสามารถนำมาต้มกับเทียนไข เพื่อนำมาใช้ถูพื้นได้
- เปลือกต้นใช้เป็นสีสำหรับย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีน้ำตาลแดง
- เนื้อไม้อะรางสามารถเลื่อยผ่า ไสกบ และตกแต่งได้ง่าย จึงสามารถนำมาใช้ทำเครื่องเรือน วัสดุในการสร้างบ้าน เช่น ไม้กระดาน หน้าต่าง วงกบประตู ฯลฯ และยังใช้ทำเป็นเครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : rspg-ubonzoo