จันทน์เทศ สรรพคุณและประโยชน์
จันทน์เทศ  สรรพคุณและประโยชน์
ต้นจันทน์เทศ มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-18 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทาอมดำ เนื้อไม้สีนวลหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหย โดยต้นจันทน์เทศสามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด


จันทน์เทศ สรรพคุณและประโยชน์

จันทน์เทศ ชื่อสามัญ Nutmeg

จันทน์เทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Myristica fragrans Houtt. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Myristica officinalis L. f., Myristica aromatica Lam., Myristica moschata Thunb. จัดอยู่ในวงศ์จันทน์เทศ (MYRISTICACEAE)

สมุนไพรจันทน์เทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จันทน์บ้าน (ภาคเหนือ, เงี้ยว-ภาคเหนือ), โย่วโต้วโค่ว โร่วโต้วโค่ว (จีนกลาง), เหน็กเต่าโข่ว (จีนแต้จิ๋ว) ปาลา (มาเลเซีย) เป็นต้น

ลักษณะของจันทน์เทศ

ต้นจันทน์เทศ มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-18 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทาอมดำ เนื้อไม้สีนวลหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหย โดยต้นจันทน์เทศสามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะกับการเจริญเติบโตคือดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีย์วัตถุสูง โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้นโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกและทางภาคใต้ของไทย สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร และนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ในปัจจุบันพบว่ามีการปลูกทั่วไปในเขตเมืองร้อน ในประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคใต้

ใบจันทน์เทศ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลมรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง หลังใบเรียบเป็นมันและเป็นสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ส่วนท้องใบเรียบและเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 6-12 มิลลิเมตร

ดอกจันทน์เทศ ออกดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบดอกเชื่อมติดกัน ดอกเป็นรูปคนโทคว่ำ ปลายกลีบแยกออกเป็น 4 แฉกแหลม ดอกเป็นแบบแยกเพศกันอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองอมขาว ลักษณะเป็นรูปไข่กลมรี ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ดอกเพศผู้จะเกิดเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนดอกเพศเมียจะเกิดเป็นดอกเดี่ยว และดอกเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ โดยต้นตัวเมียเท่านั้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่วนต้นเพศผู้จะปลูกไว้เพื่อผสมเกสรกับต้นตัวเมียเท่านั้น โดยมักจะปลูกต้นตัวผู้และต้นตัวเมียในอัตราส่วน 1 : 10 เท่านั้น

ภาพจาก : thaikasetsart.com

ผลจันทน์เทศ ผลเป็นผลสด ค่อนข้างฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม รูปร่างคล้ายกับลูกสาลี่ ยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบเป็นสีเหลืองนวล สีเหลืองอ่อน หรือสีแดงอ่อน เมื่อผลแก่แตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาล เนื้อและเปลือกแข็ง มีจำนวน 1 เมล็ดต่อผล

เมล็ดจันทน์เทศ โดยทั่วไปแล้วเราจะเรียกเมล็ดว่า "ลูกจันทน์" (Nutmeg) และเมล็ดจะมีเยื่อหุ้มหรือรกหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม มีกลิ่นหอม ซึ่งเราจะเรียกรกหุ้มเมล็ดว่า "ดอกจันทน์" (Mace) โดยมีลักษณะเป็นริ้วสีแดงจัด รูปร่างคล้ายร่างแห เป็นแผ่นบางมีหลายแฉกหุ้มเมล็ด โดยจะรัดติดแน่นอยู่กับเมล็ด เมื่อนำมาแกะแยกออกจากเมล็ด รกที่แยกออกมาสด ๆ จะมีสีแดงสด และเมื่อทำให้แห้งสีของรกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนหรือเป็นสีเนื้อ ผิวเรียบและเปราะ มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตรและมีความหนาประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม รสขมฝาดและเผ็ดร้อน

ภาพจาก : foodietaste.com

สรรพคุณและประโยชน์ของจันทน์เทศ

  1. ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) และลูกจันทน์ (เมล็ด) มีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม เป็นยาร้อนเล็กน้อย โดยออกฤทธิ์ต่อลำไส้และม้าม ใช้เป็นยาทำให้ธาตุและร่างกายอบอุ่น (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุอ่อน (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
  3. ช่วยแก้ธาตุพิการ (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด), ลูกจันทน์ (เมล็ด)) ส่วนตำรับยาจีนระบุว่าให้ใช้จันทน์เทศที่เป็นยาแห้ง 10 กรัม, เนื้อหมากแห้ง 10 กรัม, ดอกคังวู้ 15 กรัม นำมาบดเป็นผง แล้วทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ใช้รับประทานครั้งละ 10-20 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
  4. ลูกจันทน์ (เมล็ด) มีรสหอมออกฝาด เป็นยาบำรุงโลหิต (ลูกจันทน์ (เมล็ด)) ส่วนอีกตำราหนึ่งก็ระบุว่าดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ก็มีสรรพคุณบำรุงโลหิตเช่นกัน (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
  5. ช่วยกระจายเลือดลม (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
  6. ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) มีรสเผ็ดร้อน เป็นยาบำรุงกำลัง (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด)) ส่วนอีกตำราหนึ่งก็ระบุว่าลูกจันทน์ (เมล็ด) ก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังเช่นกัน (ลูกจันทน์ (เมล็ด)
  7. ช่วยบำรุงหัวใจ (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
  8. ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้อาการเบื่ออาหาร (ลูกจันทน์ (เมล็ด)) บ้างระบุว่ารกหุ้มเมล็ดก็ช่วยทำให้เจริญอาหารเช่นกัน (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
  9. ลูกจันทน์ช่วยทำให้นอนหลับได้และนอนหลับสบาย (ลูกจันทน์ (เมล็ด))
  10. ช่วยแก้อาการหอบหืด (เข้าใจว่าต้องใช้ผสมกับตัวยาอื่นด้วย) (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
  11. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
  12. ช่วยแก้ดีซ่าน (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
  13. แก่นจันทน์เทศเป็นยาลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้ดีเดือด ไข้ที่เกิดจากไวรัส (แก่น) บ้างระบุว่าลูกจันทน์ (เมล็ด) หรือดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน
  14. ช่วยแก้อาการร้อนใน ช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้อาการกระหายน้ำ (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))
  15. ช่วยแก้อาการกระสับกระส่าย ตาลอย (แก่น)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : pantip



ปฏิกิริยาของคุณ?