ชะมวง สรรพคุณและประโยชน์
ชะมวง สรรพคุณและประโยชน์
ต้นชะมวง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำทรงสูง มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นเกลี้ยงและแตกกิ่งใบตอนบนของลำต้น กิ่งย่อยผิวเรียบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำน้ำตาลมีลักษณะขรุขระ


ชะมวง สรรพคุณและประโยชน์

ชะมวง ชื่อสามัญ Cowa

ชะมวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia cowa Roxb. ex Choisy[3] จัดอยู่ในวงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)

สมุนไพรชะมวง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มป้อง มะป่อง (คนเมือง), หมากโมก (อุดรธานี), มวงส้ม (นครศรีธรรมราช), กะมวง มวง ส้มมวง (ภาคใต้), กานิ (มลายู-นราธิวาส), ตระมูง (เขมร), ยอดมวง, ส้มม่วง, ส้มโมง, ส้มป่อง เป็นต้น

ลักษณะของชะมวง

ต้นชะมวง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำทรงสูง มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นเกลี้ยงและแตกกิ่งใบตอนบนของลำต้น กิ่งย่อยผิวเรียบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำน้ำตาลมีลักษณะขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีชมพูถึงแดง มีน้ำยางสีเหลืองขุ่นไหลเยิ้มออกมาจากเปลือกต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง พบทั่วไปตามป่าชื้นที่ระดับต่ำ เป็นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นตามที่ลุ่มต่ำทั่วไป และจะพบได้มากทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรขึ้นไป (บ้างว่า 600 เมตรขึ้นไป)

ใบชะมวง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมใบหอกหรือแกมขอบขนาน โคนใบสอบแหลม ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมสีม่วงแดง ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม (สีน้ำเงินเข้ม) บริเวณปลายกิ่งมักแตกเป็น 1-3 ยอด หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบ เนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างหนาและเปราะ เส้นใบเห็นได้ไม่ชัด แต่ด้านหลังใบจะเห็นเส้นกลาง ส่วนก้านใบเป็นสีแดงมีความยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร

ดอกชะมวง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ออกดอกตามซอกใบและตามกิ่ง ดอกตัวผู้จะออกตามกิ่งเป็นกระจุก มีดอกย่อยประมาณ 3-8 ดอก ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมากเรียงกันเป็นรูปสีเหลี่ยม ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองนวลและมีกลิ่นหอม มีกลีบดอกแข็งหนา 4 กลีบ และกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบกลม ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนดอกตัวเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายกิ่ง ดอกมีเกสรตัวผู้เทียมเรียงอยู่รอบรังไข่ มีก้านเกสรติดกันเป็นกลุ่ม ที่ปลายก้านมีต่อม 1 ต่อม ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

ผลชะมวง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวผลเรียบเป็นมัน มีขนาดประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงส้มหม่น และตามผลมีร่องตื้น ๆ ประมาณ 5-8 ร่อง ด้านบนปลายบุ๋ม และมีชั้นกลีบเลี้ยงประมาณ 4-8 แฉกติดอยู่ เนื้อหนา สีเหลือง ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ประมาณ 4-6 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีหนา เรียงตัวกันเป็นวงรอบผล ผลสุกมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานได้ แต่มียางมากและทำให้ติดฟันได้ โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

ภาพจาก arit.kpru.ac.th

สรรพคุณและประโยชน์ของชะมวง

  1. ช่วยฟอกโลหิต (ผลอ่อน, ใบ), แก้โลหิต (ใบ)
  2. ช่วยรักษาธาตุพิการ (ผล,ใบ,ดอก)
  3. ราก ใบ และผลอ่อนมีรสเปรี้ยว เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน (ผลอ่อน, ใบ, ดอก, ราก)
  4. ช่วยถอนพิษไข้ (ราก)
  5. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ
  6. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ผล, ใบ)
  7. ช่วยแก้อาการไอ (ผล, ใบ) บ้างก็ว่าเนื้อไม้ช่วยแก้อาการไอได้เช่นกัน (เนื้อไม้)
  8. ช่วยแก้เสมหะ กัดเสมหะ กัดฟอกเสมหะ (ผลอ่อน, ใบ, ดอก, ราก) เสมหะเป็นพิษ (ราก) ช่วยขับเสมหะ (เนื้อไม้)
  9. ใช้เป็นยาระบายท้อง (ผลอ่อน, ใบ, ดอก)ส่วนตำยาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากชะมวง ผสมกับรากกำแพงเจ็ดชั้น รากตูมกาขาว และรากปอด่อน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย (ราก) บ้างก็ว่าเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาระบายเช่นกัน (เนื้อไม้)
  10. ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก)
  11. รากช่วยแก้บิด หรือจะใช้ผลนำมาหั่นเป็นแว่นตากแห้ง ใช้ดินเป็นยาแก้บิดก็ได้เช่นกัน (ผล)
  12. ใบชะมวงใช้ผสมกับยาชนิดอื่น ๆ ใช้ปรุงเป็นยาขับเลือดเสีย (ใบ)
  13. ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี (ใบ)
  14. ช่วยแก้ดีพิการ (ดอก)
  15. แก่นใช้ฝนหรือแช่กับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการเหน็บชา (แก่น)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : thaigreenagro



ปฏิกิริยาของคุณ?