ฉัตรทอง สรรพคุณและประโยชน์
ฉัตรทอง สรรพคุณและประโยชน์
ต้นฉัตรทอง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรงและมีความสูงของต้นประมาณ 2.5 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวและตามลำต้นมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมอยู่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย จัดเป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน


ฉัตรทอง สรรพคุณและประโยชน์

ฉัตรทอง ชื่อสามัญ Hollyhock

ฉัตรทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Alcea rosea L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Althaea rosea (L.) Cav.) จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)

สมุนไพรฉัตรทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ซูขุย (จีนกลาง), จวกขุ่ยฮวย (จีน-แต้จิ๋ว) เป็นต้น

ลักษณะของต้นฉัตรทอง

ต้นฉัตรทอง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรงและมีความสูงของต้นประมาณ 2.5 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวและตามลำต้นมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมอยู่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย จัดเป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน

ใบฉัตรทอง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันไปตามลำต้น แผ่นใบเป็นสีเขียว ลักษณะของแผ่นใบเป็นแฉกคล้ายรูปดาว ใบหนึ่งจะมีแฉกประมาณ 3-7 แฉก แต่โคนใบจะมีลักษณะเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ก้านใบมีลักษณะกลมยาวเป็นสีเขียว มีความยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร

ดอกฉัตรทอง ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ ลักษณะของดอกเป็นรูปถ้วย ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบเรียงซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกเป็นสีชมพู สีแดง และสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมเข้าหากันเป็นหลอด ส่วนปลายดอกบานออก ส่วนเกสรกลางดอกเป็นสีเหลือง ดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวลักษณะเป็นรูปถ้วยเช่นกัน โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน แต่ส่วนปลายกลีบนั้นจะแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ (บ้างว่ามีกลีบเลี้ยงประมาณ 7-8 กลีบ) มีก้านดอกยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร

ผลฉัตรทอง ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมและแบน ผลเมื่อโตจะมีจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต ผิวของเมล็ดมีรอยเส้นขวาง

ภาพจาก : medthai.com

สรรพคุณและประโยชน์ของฉัตรทอง

  1. รากและดอกใช้เป็นยาจับพิษร้อนในร่างกาย ทำให้เลือดเย็น (ราก, ดอก)
  2. รากและเมล็ดเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก, เมล็ด)
  3. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น (ดอก)
  4. ช่วยแก้โลหิตกำเดา (ราก, ดอก)
  5. ช่วยทำให้ชุ่มชื่น (ดอก)
  6. รากสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาและป้องกันโรคเยื่อจมูกอักเสบหรือเยื่อภายในร่างกายอักเสบได้ (ราก)
  7. หากมีไข้หรือเป็นไข้จับสั่น ก็ให้ใช้ดอกสดที่ผึ่งแห้งแล้ว นำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้ ส่วนรากและเมล็ดในตำราได้ระบุไว้ว่ามีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้เช่นเดียวกับดอก (ดอก, ราก, เมล็ด)
  8. ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด (ราก, ดอก)
  9. ช่วยรักษาโรคหัด ด้วยการใช้ดอกที่บานเต็มที่แล้ว (สดหรือแห้งก็ได้) นำมาต้มกินหรือบดเป็นผงกิน (ดอก)
  10. ช่วยรักษาอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือตกเลือด ด้วยการนำรากสดประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้รากสดประมาณ 60 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเหล้ารับประทานเป็นยาก็ได้ หรือหากมีอาการตกเลือดก็สามารถใช้ดอกนำมาต้มรับประทานเป็นยาได้เช่นกัน (ดอก, ราก)
  11. ช่วยรักษาโรคหลอดลมอักเสบ (ราก, ดอก)
  12. ใช้รักษาเด็กที่ปากเป็นแผลอักเสบ ด้วยการใช้ยอดอ่อนผสมกับน้ำผึ้ง นำมาทาเช้าเย็น โดยการนำไปปิ้งกับไฟให้แห้งแล้วให้เป็นผงเสียก่อน (ยอดอ่อน)
  13. ช่วยแก้บิด ขับถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้ยอดอ่อนนำมาต้มกับน้ำรับประทาน แต่ต้องนำมาปิ้งกับไฟให้พอเหลืองเสียก่อน และให้ใช้ประมาณ 6-18 กรัม หรือจะใช้ดอกนำมาต้มรับประทานก็ได้ (ยอดอ่อน, ดอก)
  14. หากมีอาการท้องผูก ก็ให้ใช้ดอกสดประมาณ 30 กรัม นำมาผสมกับชะมดเชียง 1.5 กรัม กับน้ำอีกครึ่งแก้วใช้ต้มรับประทาน บ้างก็ว่าให้ใช้รากสด ๆ ผสมกับเมล็ดของตังเกี้ยงไฉ่ (อย่างละ 30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนเมล็ดก็แก้ท้องผูกเช่นกัน โดยนำมาเมล็ดมาต้มรับประทานหรือบดเป็นผงรับประทาน แต่จะต้องใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้ว (ดอก, เมล็ด, ราก)
  15. เมล็ดใช้เป็นยาช่วยหล่อลื่นลำไส้ ด้วยการใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้ว นำมาต้มรับประทานหรือบดเป็นผงรับประทาน ส่วนดอกตามตำราก็ระบุว่ามีสรรพคุณช่วยหล่อลื่นเช่นกัน (เมล็ด, ดอก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : instazu



ปฏิกิริยาของคุณ?