มุมมอง
ดีหมี สรรพคุณและประโยชน์
ดีหมี ชื่อวิทยาศาสตร์ Acalypha spiciflora Burm.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cleidion spiciflorum (Burm.f.) Merr.) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Cleidion javanicum Blume โดยจัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)
สมุนไพรดีหมี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดินหมี (ลำปาง), คัดไล (ระนอง), กาดาวกระจาย (ประจวบคีรีขันธ์), กาไล กำไล (สุราษฎร์ธานี), มะดีหมี จ๊ามะไฟ (ภาคเหนือ), เซยกะชู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮองสอน), โต๊ะกาไล เป็นต้น
ลักษณะของต้นดีหมี
ต้นดีหมี จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ใบออกดกหนา มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เมตร เปลือกต้นเกลี้ยงและเป็นสีเทาดำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบอากาศค่อนข้างชื้นและมีแสงแดดส่องรำไร สามารถพบได้ในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดงดิบริมน้ำ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400-800 เมตร ในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
ใบดีหมี ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปวงรี รูปวงรีแกมใบหอก หรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเป็นหยักฟันเลื่อมแกมซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-22 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเรียบเป็นมันและเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเป็นสีอ่อน ที่ซอกของเส้นใบด้านท้องใบจะมีต่อมกระจัดกระจาย ก้านใบยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร
ดอกดีหมี ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน โดยจะออกดอกตามซอกใบ ดอกเพศผู้ออกดอกเป็นช่อกระจะเชิงลด ช่อดอกยาวประมาณ 8-21 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนดอกเพศเมียออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ๆ ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 2-3 แฉก
ผลดีหมี ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ลักษณะของผลเป็นพู 2 พู ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด เมล็ดเป็นสีขาว มีลักษณะกลม ผลเมื่อแก่จะแห้งและแตกได้
สรรพคุณและประโยชน์ของดีหมี
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษามะเร็ง (เปลือกต้น)
- ตำรายาไทยใช้แก่นต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (แก่น) หรือจะใช้ทั้ง 5 ส่วน (ราก, ต้น, ใบ, ดอก, ผล) นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน ช่วยดับพิษไข้ก็ได้ (ทั้งต้น)[2] ส่วนชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงจะใช้ราก ต้น หรือใบ นำมาต้มกับน้ำดื่มและอาบเป็นยาแก้ไข้ รักษาไข้มาลาเรีย (ต้น, ราก, ใบ)
- แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (แก่น)
- แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยขับเหงื่อ (แก่น) หรือจะใช้ทั้งห้าส่วนนำมาต้มกับน้ำดื่มก็สามารถช่วยขับเหงื่อได้เช่นกัน (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (แก่น) หรือจะใช้ทั้งห้าส่วนนำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน (ทั้งต้น)
- เปลือกต้นนำไปต้มกับน้ำเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (เปลือกต้น)
- เมล็ดใช้รับประทานเป็นยาระบาย (เมล็ด)
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตับพิการ (เปลือกต้น) บ้างว่าใช้ส่วนของเปลือกต้น ลำต้น กิ่ง และใบ ใช้แก้ตับอักเสบ ตับพิการ ใบไม้ตับ (ต้น, เปลือกต้น, กิ่ง, ใบ)
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เปลือกต้นต้มน้ำดื่ม)
- ใบใช้ต้มกับน้ำอาบแก้ผื่นคัน (ใบ)
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้ลมพิษในกระดูก (ราก)
- ใบสด ๆ นำไปลวกกินเป็นเมี่ยงได้
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : nanthapo