มุมมอง
ดอกดินแดง สรรพคุณและประโยชน์
ดอกดิน ชื่อสามัญ Broomrape
ดอกดินแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Aeginetia indica L. จัดอยู่ในวงศ์ดอกดิน (OROBANCHACEAE)
ดอกดินแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข้าวก่ำนกยูง หญ้าดอกขอ (เลย), ปากจะเข้ (ภาคอีสาน), สบแล้ง (สงขลา), ซอซวย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เหย่กู (จีนกลาง) , กะเปเส้, เพาะลาพอ, ดอนดิน เป็นต้น
ลักษณะของดอกดินแดง
ต้นดอกดินแดง จัดเป็นพืชจำพวกกาฝากขึ้นบนรากไม้อื่น มีอายุได้ประมาณ 1 ปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงประมาณ 15-25 เซนติเมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 40-50 เซนติเมตร โคนต้นมีกาบใบสีชมพูอ่อนประมาณ 1-2 ใบห่อหุ้มอยู่ มีก้านเดียวแทงขึ้นมาบนรากไม้อื่น ต้นไม่มีการแตกกิ่งก้านและไม่มีใบ ปลายก้านออกดอกเป็นดอกเดี่ยว สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้หัว หน่อ หรือเหง้า โดยต้นดอกดินแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตอนกลางของทวีปเอเชีย มาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปโดยเฉพาะบริเวณที่ค่อนข้างชื้นในป่าเต็งรัง พบได้มากทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ใบดอกดินแดง ไม่มีใบ บ้างก็ว่ามีใบเป็นเกล็ดขนาดเล็กที่โคนกอ มองเห็นได้ยาก โดยจะออกเรียงสลับตรงข้าม มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร
ดอกดินแดง ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีม่วงแดงอ่อน มีลักษณะเป็นถ้วยคว่ำ อ้วน โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด โค้งงอ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเหลืองอ่อน ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกจะแตกออกเป็นแฉก 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 ก้านและมีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน ยอดเกสรเพศเมียสีเหลือง มีลักษณะอวบน้ำและมีขนาดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร โดยออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
ผลดอกดินแดง ลักษณะของผลเป็นรูปกลมไข่มีสีน้ำตาล ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลเมื่อแก่จะแตกออก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลขนาดเล็กจำนวนมาก โดยจะออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
สรรพคุณและประโยชน์ของดอกดินแดง
- ทั้งต้นและดอกใช้ทำเป็นยาชงกินแก้เบาหวาน (ทั้งต้น, ดอก)
- ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอด ไต และทางเดินปัสสาวะ ใช้เป็นยาขับพิษร้อน ช่วยถอนพิษไข้ และทำให้เลือดเย็น (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นนำไปแช่กับน้ำมันงาใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาฝีบนผิวหนัง แก้ฝีภายนอก ด้วยการนำดอกสดมาตำผสมกับน้ำมันงาเล็กน้อย แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี (ดอก)
- ช่วยแก้พิษงู ด้วยการใช้ดอกแห้ง 40 กรัม ชะมดเชียง 0.5 กรัม และตะขาบแห้ง 7 ตัว นำมาแช่ในน้ำมันงาประมาณ 15 วัน จึงสามารถนำมาใช้ทาบริเวณที่โดนพิษได้ (ดอก)
- ช่วยแก้แมลงสัตว์กัดต่อย (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บวม ช่วยแก้อาการปวดบวม (ทั้งต้น)
- แก้ไขกระดูกอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสด 30 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับผงชะเอม 5 กรัม หรือนำไปต้มกับน้ำรับประทาน (ต้น)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : mgronline