ตะโกนา สรรพคุณและประโยชน์
ตะโกนา สรรพคุณและประโยชน์
ต้นตะโกนา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก รูปทรงพุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีดำ แตกเป็นร่องลึกเป็นสะเก็ดหนา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักเนื่องจากเติบโตได้ช้า) การตอนกิ่ง หรือการขุดล้อมเอามาจากธรรมชาติ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด


ตะโกนา สรรพคุณและประโยชน์

ตะโกนา ชื่อสามัญ Ebony

ตะโกนา ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros rhodocalyx Kurz จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE)

สมุนไพรตะโกนา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะถ่านไฟผี (เชียงใหม่), นมงัว (นครราชสีมา), ตะโก มะโก พญาช้างดำ พระยาช้างดำ (ภาคเหนือ), โก (ภาคอีสาน), ตองโก (เขมร) เป็นต้น

ลักษณะของตะโกนา

ต้นตะโกนา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก รูปทรงพุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีดำ แตกเป็นร่องลึกเป็นสะเก็ดหนา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักเนื่องจากเติบโตได้ช้า) การตอนกิ่ง หรือการขุดล้อมเอามาจากธรรมชาติ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการแสงแดดแบบเต็มวัน มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี โดยพบว่ามีเขตการกระจายพันธุ์จากพม่าจนถึงภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบขึ้นได้ทุกภาคตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าละเมาะ และตามทุ่งนา ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 40-300 เมตร

ใบตะโกนา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม รูปไข่กลับ หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนกลาย ๆ และรูปป้อม ปลายใบมนมีติ่งสั้นหรือมีรอยหยักเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือป้าน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน มีเส้นแขนงของใบประมาณ 5-8 คู่ เส้นอ่อนคดไปมามองเห็นได้ทางด้านหลังใบและขึ้นเด่นชัดทางด้านท้องใบ เส้นร่างแหพอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้าน ส่วนเส้นกลางใบออกเป็นสีแดงเรื่อ ๆ และก้านใบสั้นยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร

ดอกตะโกนา ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามกิ่งหรือตามง่ามใบ ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 3 ดอก ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม โดยกลีบดอกจะยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำหรือรูปป้อง ๆ ปลายแยกออกเป็นแฉกเล็ก ๆ เกลี้ยงเกลาทั้งสองด้าน ส่วนกลีบรองดอกยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ด้านนอกมีขนนุ่ม ส่วนด้านในมีขนยาว ๆ แน่น ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 14-16 ก้าน มีขนแข็ง ๆ แซม รังไข่เทียมมีขนแน่น ส่วนดอกเพศเมียจะออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจะเหมือนกับดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร รังไข่มีลักษณะป้อม มีขนเป็นเส้นไหมคลุม ภายในแบ่งเป็นช่อง 4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย ส่วนหลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียวและมีขนแน่น ปลายหลอดแยกเป็นแฉก 2 แฉก มีเกสรเพศผู้เทียมประมาณ 8-10 ก้าน มีขนแข็ง ๆ แซมอยู่ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน

ผลตะโกนา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.2-2.4 เซนติเมตร (บ้างว่าประมาณ 3 เซนติเมตร) ผิวผลเรียบ ผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคลุมอยู่หนาแน่น ซึ่งขนเหล่านี้มักหลุดร่วงได้ง่าย ส่วนปลายผลและโคนผลมักบุ๋ม กลีบจุกผลชี้ออกหรือแนบลู่ไปตามผิวของผล ข้างในมีขนสีน้ำตาลแดงและมีขนนุ่มทางด้านนอกพื้นกลีบและขอบกลีบมักเป็นคลื่น เส้นสายกลีบพอเห็นได้ชัด ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือแดงปนส้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 3-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่รีหรือแบน เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีเนื้อหุ้มสีขาวและฉ่ำน้ำ มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลสั้นมาก มีความยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน

ภาพจาก : gotoknow.org

สรรพคุณและประโยชน์ของตะโกนา

  1. เปลือกต้นหรือแก่นใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้มีอายุยืนยาว (แก่น, เปลือกต้น) ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้นตะโกนา เถาบอระเพ็ด ผสมกับเปลือกทิ้งถ่อน เมล็ดข่อ ผลพริกไทยแห้ง และหัวแห้วหมู อย่างละเท่ากันนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือดองกับเหล้าดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ (เปลือกต้น)
  2. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น, เปลือกต้น)
  3. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นชาช่วยบำรุงกำลัง (แก่น, เปลือกต้น) บำรุงร่างกาย (เปลือก)
  4. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือก)
  5. แก่นและเปลือกใช้เข้ายารักษามะเร็ง (แก่น, เปลือก)
  6. ผลนำมาตากแดด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กษัย (ผล) บ้างว่าใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
  7. ช่วยแก้โรคผอมแห้งหลังการคลอดบุตรเนื่องมาจากอยู่ไฟไม่ได้ (ราก)
  8. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ (ผล) แก้อาเจียนเป็นโลหิต (ผล)
  9. ต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ (ต้น)
  10. ราก ต้น และแก่นเป็นยาแก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ จากการกินของแสลงที่เป็นพิษ (ราก, ต้น, แก่น)
  11. ช่วยแก้พิษผิดสำแดง (ต้น)
  12. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นชาช่วยแก้อาการร้อนในได้ (เปลือกต้น) บ้างว่าใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
  13. เปลือกต้นหรือแก่นนำมาต้มกับเกลือใช้อมรักษาโรครำมะนาดหรือโรคปริทันต์ (โรคที่มีอาการอักเสบของอวัยวะรอบ ๆ ฟัน) (แก่น, เปลือกต้น)
  14. เปลือกต้นหรือแก่นนำมาต้มกับเกลือใช้อมแก้อาการปวดฟัน (แก่น, เปลือกต้น)
  15. ผลมีรสฝาดหวาน ช่วยแก้อาการมวนท้อง (ผล)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : สมุนไพรสามร้อยยอด



ปฏิกิริยาของคุณ?