มุมมอง
หางนกยูงฝรั่ง สรรพคุณและประโยชน์
หางนกยูงฝรั่ง ชื่อสามัญ Flam-boyant, The Flame tree, Royal poinciana
หางนกยูงฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Delonix regia (Hook.) Raf. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
สมุนไพรหางนกยูงฝรั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นกยูงฝรั่ง อินทรี (ภาคกลาง), หงอนยูง (ภาคใต้), นกยูง นกยูงฝรั่ง ชมพอหลวง ส้มพอหลวง (ภาคเหนือ), ยูงทอง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เป็นต้น
ลักษณะของหางนกยูงฝรั่ง
ต้นหางนกยูงฝรั่ง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเกาะมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา ซึ่งค้นพบครั้งแรกเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2367 โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรเลียชื่อ เวนเซล โบเจอร์ (Wenzel Bojer) โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เมื่อต้นโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 12-18 เมตร มีเรือนยอดแบแผ่กว้างเป็นทรงกลมคล้ายร่ม และแผ่กิ่งก้านออกคล้ายกับต้นจามจุรี แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ลำต้นหางนกยูงฝรั่ง ลักษณะลำต้นจะเกลี้ยง เปลือกมีสีน้ำตาลอ่อนอมขาวถึงสีน้ำตาลเข้ม โคนต้นเป็นพูพอน และเมื่อต้นโตเต็มที่มักจะมีรากโผล่ขึ้นมาบนดินโดยรอบ ซึ่งต้นหางนกยูงฝรั่งจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดเป็นหลัก แต่ก็สามารถใช้วิธีการติดตา ต่อกิ่ง และเสียบยอดก็ได้เช่นกัน โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในดินทั่วไป
ใบหางนกยูงฝรั่ง ลักษณะของใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงเวียนสลับกัน และมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน โดยขนาดของใบย่อยจะมีขนาดใกล้เคียงกับใบย่อยของมะขาม แผ่นใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายกลมโคนเบี้ยว ผิวใบเกลี้ยง ต้นหางนกยูงฝรั่งเป็นพืชผลัดใบ ซึ่งมักจะผลัดใบในช่วงเดือนมีนาคมถึงช่วงเดือนมิถุนายน
ดอกหางนกยูงฝรั่ง ลักษณะเป็นช่อดอก ออกดอกตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ยาวงอนออกมาเหนือกลีบดอก กลีบดอกประกอบด้วย 2 สี คือสีแดงและสีเหลือง แต่เวลามองอาจจะเห็นเป็นสีแสด ซึ่งดอกใดที่มีสีเหลืองมากกว่า ดอกก็เป็นสีแสดออกเหลือง ๆ แต่ถ้าดอกใดมีสีแดงมากกว่าก็จะออกเป็นสีแสดออกแดง (แต่ก็มีหางนกยูงบางต้นที่สามารถออกดอกเป็นสีแดงแท้ ๆ และดอกหางนกยูงฝรั่งสีเหลืองแท้ได้เหมือนกัน แต่ก็หาดูได้ยากนัก) ปกติแล้วโดยทั่วไปจะพบแต่หางนกยูงดอกสีแสด และดอกหางนกยูงฝรั่งจะออกดอกและทิ้งใบอยู่ใต้ต้นเหลือแต่บอกที่บานสะพรั่ง ทำให้ดูงดงามมากเป็นพิเศษ โดยในประเทศไทยฤดูที่ออกดอกของต้นหางนกยูงฝรั่ง ก็คือในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม
ผลนกยูงฝรั่ง ลักษณะของผลเป็นฝักแบนแข็ง โค้งเป็นรูปดาบ ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ลักษณะของฝักเป็นข้อ ๆ แต่ละข้อจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมื่อฝักแก่จะแตกออก และในฝักมีเมล็ดเรียงอยู่ตามขวางประมาณ 20-40 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีเขียว ส่วนเมล็ดแก่เต็มที่จะเป็นสีเทาอมขาว ลักษณะค่อนข้างเป็นทรงกลม (หรือทรงกระบอกหัวท้ายมน)
สรรพคุณและประโยชน์ของหางนกยูงฝรั่ง
- รากใช้เป็นยาขับโลหิตสตรี (ราก)
- รากช่วยแก้อาการบวมต่าง ๆ (ราก)
- ลำต้นนำมาฝนใช้ทาแก้พิษ ถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ (ลำต้น)
- ต้นหางนกยูงฝรั่งเป็นต้นไม้ที่เป็นทรงพุ่มสวยงดงามมาก สีของดอกดูสวยสดใส เป็นต้นไม้ที่ปลูกได้ง่ายและทนทานต่อสภาพอากาศแห้งแล้ง มักนิยมปลูกไว้ประดับตามสถานที่ราชการต่าง ๆ รวมไปถึงสวนสาธารณะและตามขอบถนนหนทางต่าง ๆ
- รากนำมาต้มหรือนำมาทอดรับประทานร่วมกับอาหารได้
- เมล็ดอ่อนสามารถนำมารับประทานสดได้ แต่ถ้าเป็นเมล็ดแก่ต้องนำมาทำให้สุกก่อนจึงจะสามารถรับประทานได้ (เนื่องจากเมล็ดแก่มีสารประกอบบางชนิดที่เป็นพิษ และจะถูกทำลายได้โดยความร้อน)
- เมล็ดสามารถนำไปใช้ประกอบอาหารได้ เช่น การนำมาทำเป็นขนมหวานด้วยวิธีต้มกับน้ำตาลราดกะทิ เป็นต้น
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : thaiarcheep