หญ้าหวาน สรรพคุณและประโยชน์
หญ้าหวาน สรรพคุณและประโยชน์
ต้นหญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุกอายุประมาณ 3 ปี ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย มีความสูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร มีลำต้นแข็งและกลม ลักษณะทั่วไปคล้ายต้นโหระพา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการใช้กิ่งชำปลูก ใบหญ้าหวาน ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหัวกลับ


หญ้าหวาน สรรพคุณและประโยชน์

หญ้าหวาน ชื่อสามัญ Stevia (สตีเวีย)

หญ้าหวาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Stevia rebaudiana (Bertoni) Bertoni (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium rebaudianum Bertoni, Stevia rebaudiana (Bertoni) Hemsl.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบราซิลและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปารากวัยในทวีปอเมริกาใต้

ทำไมถึงเรียกว่าหญ้าหวาน ? นั่นเป็นเพราะว่าในส่วนของใบหญ้าหวานนั้นมีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า แต่เป็นความหวานที่ไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และที่สำคัญก็คือสารสกัดที่ได้จากหญ้าหวานที่มีชื่อว่า สตีวิโอไซด์ (Stevioside) นั้นเป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200-300 เท่า ! และด้วยความที่มันมีคุณสมบัติพิเศษอย่างนี้ หญ้าหวานจึงเป็นพืชที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้รักสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยได้มีการนำไปใช้ในด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างเครื่องดื่ม ยาสมุนไพร และด้านการแพทย์

ซึ่งแน่นอนว่าชาวพื้นเมืองในประเทศปารากวัยก็รู้จักนำหญ้าหวานมาสกัดเพื่อใช้ในการบริโภคหลายศตวรรษแล้ว โดยนำมาใช้ผสมในเครื่องดื่ม ชงกับชา ฯลฯ และสำหรับต่างประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการใช้สารสกัดดังกล่าวมานานมากเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว โดยนำไปใช้ผสมกับผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ เช่น เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว ผักดอง เนื้อปลาบด เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย หญ้าหวานได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในภายหลัง และได้มีการนำเข้ามาปลูกในช่วงปี พ.ศ.2518 โดยได้มีการนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือ ซึ่งจะเพาะปลูกกันมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน เนื่องจากพืชนิดนี้จะชอบอากาศที่ค่อนข้างเย็น ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส และพืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีเมื่อเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600-700 เมตร

ลักษณะของหญ้าหวาน

ต้นหญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุกอายุประมาณ 3 ปี ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย มีความสูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร มีลำต้นแข็งและกลม ลักษณะทั่วไปคล้ายต้นโหระพา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการใช้กิ่งชำปลูก

ใบหญ้าหวาน ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหัวกลับ ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย มีรสหวานมาก ใช้แทนน้ำตาลได้

ดอกหญ้าหวาน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกมีสีขาว ดอกเล็ก กลีบเป็นรูปไข่สีขาวเล็กมาก มีเกสรตัวผู้เป็นสีขาวงอไปมา ยื่นออกมาเล็กน้อย

ภาพจาก palangkaset.com

สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าหวาน

  1. สมุนไพรหญ้าหวานช่วยเพิ่มกำลังวังชา
  2. ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
  3. ช่วยในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  4. ช่วยลดไขมันในเลือดสูง
  5. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
  6. ช่วยบำรุงตับ
  7. ช่วยสมานแผลทั้งภายในและภายนอก
  8. ช่วยเพิ่มการรับประทานอาหารและช่วยลดความขมในอาหารได้
  9. ใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
    หญ้าหวานทางเลือกของคนอ้วน ให้ความหวานเหมือนน้ำตาล แต่ไม่ให้พลังงาน รับประทานเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน จึงช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี
  10. มีการนำหญ้าหวานไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ โดยปัจจุบันนิยมบริโภคหญ้าหวานอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบ โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ ใบอบแห้ง, ใบแห้งบดสำหรับชงแบบสำเร็จรูป (ชาหญ้าหวาน), ใบสด, ใบแห้งบดสำหรับใช้แทนน้ำตาล (หญ้าหวานผง), และแบบสารสกัดจากใบแห้งด้วยน้ำ โดยจะนิยมนำมาชงเป็นชาดื่ม รองลงมาก็คือ การนำมาต้มและเคี้ยว แต่จะไม่ค่อยนิยมนำมาบริโภคในแบบผสมกับอาหารเท่าใดนัก
  11. มีการนำสารสกัดจากหญ้าหวานมาใช้แทนน้ำตาล หรือใช้ทดแทนน้ำตาลบางส่วน เพราะสารสตีวิโอไซด์นั้นมีความทนทานต่อกรดและความร้อนได้เป็นอย่างดี จึงสามารถนำมาใช้ในอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น น้ำอัดลม น้ำชาเขียว ขนมเบเกอรี แยม เยลลี ไอศกรีม ลูกอม หมากฝรั่ง ซอสปรุงรส ฯลฯ (ล่าสุดได้ยินมาว่าเครื่องดื่มแบรนด์ดังอย่างโคคา โคล่า ก็ได้มีจดสิทธิบัตรและได้ทำการผลิตโดยใช้สารสกัดนี้แล้วเหมือนกัน แต่ยังไม่เห็นจำหน่ายในไทย ซึ่งถ้ามีมาเมื่อไหร่ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่อยากดื่มน้ำตาลเป็นซอง ๆ)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : nextsteptv



ปฏิกิริยาของคุณ?