ชุมเห็ดไทย สรรพคุณและประโยชน์
ชุมเห็ดไทย สรรพคุณและประโยชน์
ต้นชุมเห็ดไทย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี ต้นมีความสูงประมาณ 0.3-1.3 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 12.3-17.4 มิลลิเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาลแดง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นทรงพุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนอ่อนปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด


ชุมเห็ดไทย สรรพคุณและประโยชน์

ชุมเห็ดไทย ชื่อสามัญ Foetid cassia, Sickle senna

ชุมเห็ดไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna tora (L.) Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia tora L.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

สมุนไพรชุมเห็ดไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พรมดาน พราดาน (สุโขทัย), หญ้าลึกลืน หญ้าลักลืน (ปราจีนบุรี), เล็นเค็ด (มหาสารคาม), เล็บหมื่นน้อย ลับมืนน้อย เล็บมื่นน้อย (ภาคเหนือ), ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดเขาควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก เล็บมื่นน้อย เล็บมื้น (ภาคกลาง), กิเกีย หน่อปะหน่าเหน่อ หน่อปะหน่ำเหน่อ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ก๊วกเม้ง เอียฮวยแซ (จีน), เจี๋ยหมิงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของชุมเห็ดไทย

ต้นชุมเห็ดไทย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี ต้นมีความสูงประมาณ 0.3-1.3 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 12.3-17.4 มิลลิเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาลแดง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นทรงพุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนอ่อนปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยมักพบขึ้นเองตามริมคลอง ตามที่รกร้าง หรือตามริมทางทั่วไป

ใบชุมเห็ดไทย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 คู่ ตรงกลางใบย่อยที่ติดเชื่อมกันนั้นจะพบว่ามีตุ่มตารองน้ำ 1 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งหนาม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.19-2.69 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4.27-5.17 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเนียนไม่มีขน ท้องใบมีขนละเอียดอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่หนาแน่น ใบมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ก้านใบมีร่องลึก ก้านใบยาวประมาณ 2.71-3.99 เซนติเมตร ไม่มีขน มีหูใบแบบเข็มแหลมสีเขียว 2 อัน ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร

ดอกชุมเห็ดไทย ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 2.71-4.03 เซนติเมตร ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 2-4 ดอก ดอกเป็นสีเหลืองสด มีกลีบดอก 5 ดอก และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอีก 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน และมีรังไข่เป็นเส้นยาวงอโค้งเล็กน้อยและมีขนปกคลุม ส่วนปลายเกสรเพศเมียจะเป็นตุ่มสั้น ๆ ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนปกคลุม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน

ผลชุมเห็ดไทย ออกผลเป็นฝักยาวโค้งเล็กน้อย ฝักจะแบนทั้งสองด้าน ฝักมีความยาวประมาณ 15-24 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และปกคลุมไปด้วยขนอ่อนนุ่มสั้น ๆ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 20-30 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเขียวอมเทา ผิวเมล็ดเรียบ เงาเป็นมัน เมล็ดมีลักษณะแข็งและแบน หน้าตัดเฉียงเป็นรูปสีเหลี่ยมขนมเปียกปูน มองเห็นเหมือนเป็นจะงอยอีกด้านหนึ่งของเมล็ด เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-6 มิลลิเมตร เมล็ดมีรสชาติขมเมา มีกลิ่นเฉพาะตัว หอมเล็กน้อย

ภาพจาก : honestdocs.co

สรรพคุณและประโยชน์ของชุมเห็ดไทย

  1. เมล็ดมีรสขมหวานชุ่ม เป็นยาเย็น โดยออกฤทธิ์ต่อตับและไต ช่วยทำให้เลือดเย็น (เมล็ด)
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เมล็ด)
  3. เมล็ดนำมาคั่วชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงประสาท (เมล็ด) ส่วนใบหรือรากก็เป็นยาบำรุงประสาทเช่นกัน (ใบ, ราก)
  4. เมล็ดใช้เป็นยาระงับประสาท (เมล็ด)
  5. ช่วยทำให้นอนหลับสบาย ทำให้ง่วงนอน แก้อาการนอนไม่หลับ ด้วยการใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยนำมาคั่วให้เกรียมคล้ายเมล็ดกาแฟ แล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม จะให้รสหอมชุ่มชื่นใจดี ไม่ทำให้หัวใจสั่น (เมล็ด) ส่วนใบก็แก้อาการนอนไม่หลับได้เช่นกัน (ใบ)
  6. ช่วยบำรุงกำลัง (ใช้เมล็ดคั่วชงกับน้ำดื่ม)
  7. เมล็ดคั่วชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น (เมล็ด) ส่วนผลหรือฝักชุมเห็ดไทยก็มีสรรพคุณบำรุงหัวใจเช่นกัน (ผล)
  8. ช่วยแก้กระษัย (ใช้เมล็ดคั่วชงกับน้ำดื่ม)
  9. เมล็ดใช้เป็นยาแก้เด็กเป็นตานขโมย ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 10 กรัม ตับไก่ 1 คู่ นำมาบดผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย แล้วปั้นเป็นก้อนนำมานึ่งให้สุกและใช้รับประทาน (เมล็ด)
  10. เมล็ดใช้คั่วกับน้ำดื่มเป็นยาลดความดันชั่วคราว (เมล็ด) โดยใช้เมล็ดแห้ง 15 กรัม (บ้างว่าใช้ 30 กรัม) นำมาคั่วให้เกรียมบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำดื่มแทนน้ำชาจะช่วยลดความดันโลหิตได้ (เมล็ด) ส่วนใบก็ช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน (ใบ)
  11. ช่วยรักษาอาการตาบวมแดง ตาฝ้ามัว ตาฟาง (เมล็ด) หากตาฝ้ามัว (ที่ไม่ได้เกิดจากโรคติดเชื้ออื่นใด) ให้ใช้เมล็ด 2 ถ้วยชานำมาบดเป็นผงรับประทานกับข้าวต้มเป็นประจำ และห้ามรับประทานร่วมกับปลา เนื้อหมู ต้นหอม และซิงไฉ่ (Rorippa Montana (Wall.) Small.) หากตาฟาง ให้ใช้เมล็ดแห้ง 60 กรัมและเมล็ดโคเชีย (Kochia scoparia (L.) Schrad.) แห้ง 30 กรัม นำมาบดเป็นผงรับประทานหลังอาหารครั้งละ 3 กรัม[9] หากเยื่อตาอักเสบแบบเฉียบพลัน ก็ให้ใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยแห้งและเก๊กฮวยอย่างละ 10 กรัม, บักชัก (Equisetum hiemale L.) 6 กรัม และมั่งเก๊กจี้ (Vitex rotundifolia L.) 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เมล็ด)
  12. ทั้งต้นช่วยทำให้ตาสว่าง (ทั้งต้น) ส่วนอีกตำราระบุว่าใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยนำมาคั่วให้เกรียม ผสมกับคนทีสออย่างละเท่ากัน นำมาบดเป็นผง ใช้ครั้งละประมาณ 5-6 กรัม นำมาชงกับน้ำรับประทาน 2 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน (เมล็ด) หรือจะใช้เมล็ดแห้ง 1 ถ้วยชา มั่งเก๊กจี้ (Vitex rotundifolia L.) แห้ง 1 ถ้วยชา และเหล้าอย่างดีอีก 1 ถ้วยชา นำมาต้มจนเหล้าแห้งแล้วบดให้เป็นผง ใช้ดื่มกับน้ำอุ่นหลังอาหารและก่อนนอนครั้งละ 6 กรัม วันละ 4 ครั้ง (เมล็ด)
  13. ทั้งต้นและใบใช้ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ (ทั้งต้นและใบ)
  14. ใบใช้เป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรีย (ใบ)
  15. ทั้งต้นมีรสเมา ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัด (ทั้งต้น, ต้นและราก, ใบ, ราก, เมล็ด, หากเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ให้ใช้ทั้งต้นหรือใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม หากใช้สดให้เพิ่มอีก 1 เท่าตัว ใช้ผสมกับชะเอมต้มน้ำดื่ม (ใบ, ทั้งต้น) ส่วนตำรายาไทยจะใช้เมล็ดหรือราก โดยมักใช้คู่กับหญ้าขัด ในกรณีที่เป็นไข้ มีอาการปวดศีรษะและสันนิบาต (เมล็ด, ราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : dnp.go.th



ปฏิกิริยาของคุณ?