มุมมอง
ทิ้งถ่อน สรรพคุณและประโยชน์
ทิ้งถ่อน ชื่อสามัญ White siris, Sit
ทิ้งถ่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Albizia procera (Roxb.) Benth. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)
สมุนไพรทิ้งถ่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พระยาฉัตรทัน ส่วน (เชียงใหม่, เลย), ถ่อน ถินถ่อน นมหวา นุมหวา ทิ้งถ่อน (ภาคกลาง), ควะ เยกิเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เชอะบ้อง ซะบ้อง แซะบ้อง เซะบ้อง เส่บ้อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น
ลักษณะของทิ้งถ่อน
ต้นทิ้งถ่อน จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านต่ำและโปร่ง ลำต้นเปลาตรง ทรงพุ่มเป็นเรือนยอด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย ต้นแก่เป็นสีเทาถึงสีน้ำตาล เปลือกต้นมีรอยด่างเป็นสีน้ำตาลกระจาย พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นตามป่าหญ้า ตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าทุ่งตอนลุ่มในภาคกลางทั่วไป หรือในพื้นที่ต่ำน้ำท่วมถึง และยังขึ้นกระจัดกระจายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคตะวันออก ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้มักจะขึ้นเป็นกลุ่มแบบห่าง ๆ กันบนภูเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-1,000 เมตร ส่วนในกรุงเทพฯ ก็พบว่ามีปลูกกันบ้างประปราย และในต่างประเทศพบขึ้นทางตอนใต้ของจีน พม่า ลาว และกัมพูชา
ใบทิ้งถ่อน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับกัน ช่อใบย่อยยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร เหนือโคนก้านมีต่อมขนาดปลายก้าน มีต่อมเป็นรูปร่างกลมนูน ก้านใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย มีใบย่อยประมาณ 5-12 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือเป็นรูปไข่กลีบ หรือรูปขอบขนาน หรือรูปรี ปลายใบมนหรือเว้าเล็กน้อย โคนใบมนหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.75-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน บ้างว่าหลังเรียบ ส่วนท้องใบมีขนสั้นปกคลุม ส่วนก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร
ดอกทิ้งถ่อน ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะเกิดเป็นกลุ่มบนก้านช่อรวม กลุ่มละประมาณ 2-5 ช่อ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 15-25 ดอก ดอกย่อยไม่มีก้านดอก หรือมีแต่สั้นมาก ดอกเป็นสีขาวมีกลีบดอก 5 กลีบ เกสรขาวแกมสีเหลืองอ่อน ติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกมีขนเล็ก ๆ ดอกมีเพศผู้จำนวนมาก โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมรอบเกสรเพศเมีย หลอดยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ก้านชูอับเรณูเป็นสีเหลืองอ่อน ปลายก้านเป็นสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร อับเรณูมีสีขาวแกม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบติดกันเป็นรูปถ้วยยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร สีเขียวผิวเรียบขอบถ้วยแยกเป็นแฉก 5 แฉก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นสีขาว
ผลทิ้งถ่อน ออกผลเป็นฝักแบน มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ฝักเมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 6-12 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะแบนรี มีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร
สรรพคุณและประโยชน์ของทิ้งถ่อน
- เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูม เป็นยาอายุวัฒนะ (เปลือกต้น)
- แก่นใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น)
- เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ช่วยแก้ลมในกองธาตุ แก้ลมป่วง (เปลือกต้น)
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้กษัย แก้ลมกษัย (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้หืดไอ (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูม มีสรรพคุณแก้อาเจียน (เปลือกต้น)
- ช่วยในการขับผายลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (เปลือกต้น) หรือจะใช้รากและแก่นต้มกับน้ำดื่มแก้อาการท้องอืดก็ได้เช่นกัน (รากและแก่น) ส่วนผลก็เป็นยาขับลม แก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อเช่นกัน (ผล)
- เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูมเป็นยาแก้ท้องร่วง (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)
- แก่นใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (แก่น)
- ช่วยแก้ระดูขาวของสตรี (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)
- รากใช้เป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (ราก)
- เปลือกใช้ภายนอกเป็นยาห้ามเลือด ใช้ชะล้างบาดแผลและช่วยสมานแผล (เปลือกต้น) ช่วยแก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรังและใช้ทาฝี (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : nanagarden