มุมมอง
เทียนบ้าน สรรพคุณและประโยชน์
เทียนบ้าน ชื่อสามัญ Garden balsam
เทียนบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens balsamina L. จัดอยู่ในวงศ์เทียนดอก (BALSAMINACEAE)
สมุนไพรเทียนบ้าน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เทียนดอก เทียนสวน เทียนไทย เทียนขาว เทียน (ภาคกลาง), จึงกะฮวย จี๋กะเช่า เซียวก่ออั้ง ห่งเซียง (จีน), จือเจี่ยฮวา จี๋ซิ่งจื่อ เฟิ่งเซียนฮวา ฝู่เฟิ่งเซียนฮวาจื่อ เป็นต้น
ลักษณะของเทียนบ้าน
ต้นเทียนบ้าน หรือ ต้นเทียนดอก มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและแอฟริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 20-70 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านใกล้กับโคนต้น ข้อกลวง ต้นใหญ่ เป็นรูปกลมทรงกระบอก ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นสีเขียวอ่อนอมสีแดง อวบน้ำ มีเนื้อนิ่ม ผิวเรียบ เนื้อใส โคนต้นเป็นสีแดง พรรณไม้ชนิดนี้มีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ ปลูกได้ง่าย โตเร็ว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ ชอบแสงแดดอ่อน ๆ จึงควรปลูกในที่ร่มรำไร
ใบเทียนบ้าน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบจักเป็นซี่ฟันตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มกว่าลำต้น หลังใบและท้องใบเรียบ บ้างว่าผิวของเนื้อใบสากและหยาบ
ดอกเทียนบ้าน ออกดอกเป็นช่อประมาณ 2-3 ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกจะมีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ เช่น สีชมพู สีแดง สีม่วง สีขาว หรืออาจเป็นสีผสมก็ได้ (แต่นิยมนำดอกขาวมาใช้ทำยา) ดอกมีกลีบดอกประมาณ 4-5 กลีบ กลีบดอกอาจซ้อนกันหรือไม่ซ้อนกันก็ได้ และแต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายของกลีบดอกหยักเว้าเป็นลอน ส่วนกลีบรองดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วยปากบานออก มีงวงน้ำหวานยาว ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้านเกิดติดกันอยู่รอบ ๆ รังไข่ โดยรังไข่แบ่งออกเป็น 5 ห้อง ปลายรังไข่มี 5 รอยแยก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบเป็นสีเขียว ออกดอกได้ตลอดทั้งปีและมีสีสดสวย
ผลเทียนบ้าน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรี ผิวผลมีขนยาวสีขาวปกคลุม ผลเป็นกระเปาะมีรอยแยกแบ่งเป็น 5 กลีบ ผลมีก้านยาวมองเห็นได้ชัดเจน เป็นสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่แล้วจะแตกออกตามยาว เปลือกจะบิดม้วนขมวดและดีดเมล็ดออกมา ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีรอยกระอยู่หลายเมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่แบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร
สรรพคุณและประโยชน์ของเทียนบ้าน
- รากมีรสขมเผ็ด มีพิษเล็กน้อย ใช้กระจายเลือด ขับลมชื้นในร่างกาย (ราก) ส่วนเมล็ดมีพิษ ช่วยกระจายเลือด (เมล็ด) ลำต้นช่วยทำให้เลือดเดินสะดวก (ลำต้น)
- ดอกเป็นยาเย็น ใช้บำรุงร่างกาย (ดอก)
- เมล็ด ใบ ดอก ทั้งต้นใช้เป็นยาฟอกเลือด (เมล็ด, ใบ, ดอก, ทั้งต้น)บ้างว่ารากก็มีสรรพคุณเป็นยาฟอกเลือดเช่นกัน (ราก)
- ใช้แก้จมูกอักเสบ บวมแดง ด้วยการใช้ยอดสดนำมาตำผสมกับน้ำตาลทรายแดง แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนเช้าและเย็น (ยอดสด)
- ลำต้นนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำดื่มหรือกลืน เพื่อแก้ก้างปลาหรือกระดูกติดคอ (ต้น) ส่วนเมล็ดก็ช่วยแก้ก้างติดคอเช่นกัน โดยใช้เมล็ดสดนำมาตำแล้วกลืนลงไป หรือถ้าไม่มีเมล็ดก็ให้ใช้รากสดนำมาเคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืนลงไปช้า ๆ แล้วใช้น้ำอุ่นอมบ้วนปากเพื่อป้องกันฟันเสีย (เนื่องจากยานี้ละลายกระดูกและฟันได้) (เมล็ด, ราก)
- ช่วยทำให้อาเจียน (ลำต้น)
- เมล็ดเป็นยาขับเสมหะข้น (เมล็ด)
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ฝีบริเวณต่อมทอนซิล (ทั้งต้น)
- ใช้แก้คอเป็นเม็ดเดี่ยวหรือเม็ดคู่ โดยใช้เมล็ดนำมาบดเป็นผง ใช้กระดาษม้วนเป่าเข้าไป ให้อมไว้วันละ 2-3 ครั้ง (เมล็ด)
- ทั้งต้นมีรสเผ็ดขม เป็นยาร้อนเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับลม (ทั้งต้น, ลำต้น) ใบและดอกเป็นยาสลายลม (ใบ, ดอก)
- ใบเป็นยาแก้บิด มูกเลือด (ใบ)
- ลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ (ลำต้น)
- ดอกเป็นยาแก้อาการปวดก่อนมีประจำเดือน (ดอก)
- เมล็ดใช้เป็นยาขับเลือด ขับประจำเดือนของสตรี แก้ประจำเดือนไม่มา และใช้เป็นยากระจายเลือด โดยใช้เมล็ดแห้งของต้นเทียนบ้านชนิดดอกขาว 60 กรัม นำมาบดเป็นผงรวมกับตังกุย 10 กรัม และผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาเม็ด ใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 3 กรัม (หรืออาจผสมกับตังกุย 10 กรัม ด้วยก็ได้) วันละ 3 เวลา (เมล็ด)
- สำหรับสตรีที่คลอดบุตรยาก ให้ใช้เมล็ดเทียนบ้าน 6 กรัม นำมาบดเป็นผงกินกับน้ำ แต่ต้องระวังอย่าให้ถูกฟัน (เมล็ด)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : blogspot