มุมมอง
รางจืด สรรพคุณและประโยชน์
รางจืด หรือ ว่านรางจืด ชื่อสามัญ Laurel clockvine, Blue trumphet vine
รางจืด ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia laurifolia Lindl. จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
สมุนไพรรางจืด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า รางเย็น คาย (ยะลา), ดุเหว่า (ปัตตานี), ทิดพุด (นครศรีธรรมราช), ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์), น้ำนอง (สระบุรี), จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กำลังช้างเผือก ยาเขียว เครือเขาเขียว ขอบชะนาง (ภาคกลาง), ว่านรางจืด เป็นต้น
ลักษณะของรางจืด
ต้นรางจืด เป็นไม้เลื้อยหรือไม้เถาที่มีเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถานั้นจะกลมเป็นปล้อง มีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ลำต้นไม่มีขนและไม่มีมือจับเหมือนกับตำลึง และมะระ แต่อาศัยลำต้นในการพันรัดขึ้นไป รางจืดเป็นพืชในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย จึงสามารถขึ้นได้ทั่วไปตามป่าดิบชื้นของประเทศไทยทั่วทุกภาค เจริญเติบโตได้เร็วมาก และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เถาในการปักชำ
ใบรางจืด เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจหรือรูปใบขอบขนานหรือเป็นรูปไข่ โคนใบมนเว้า ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร มีเส้นอยู่ 3 เส้นออกจากโคนใบ
ดอกรางจืด ลักษณะของดอกออกเป็นช่อห้อยลงมาตามซอกใบ ช่อละ 3-4 ดอก ดอกมีสีม่วงอมฟ้า มีใบประดับสีเขียวประแดง มีกลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกเป็นรูปแตรสั้น โคนกลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน โคนดอกเป็นหลอดกรวยยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เชื่อมติดกันเป็นหลอด และมักมีน้ำหวานบรรจุอยู่ภายในหลอด กลีบดอกมีปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 4 อัน
ผลรางจืด ลักษณะเป็นฝักกลม ปลายเป็นจะงอย เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก
สมุนไพรรางจืด “ราชาแห่งการถอนพิษ” เป็นสมุนไพรที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปเลือกใช้เพื่อใช้แก้พิษต่าง ๆ เช่น พิษจากยาฆ่าแมลง ยาเบื่อ สารตะกั่ว ฯลฯ ยิ่งเมื่ออยู่ในสถานที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล การจะนำส่งแพทย์เพื่อรับการรักษาอาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน จนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แต่ถ้ามีต้นรางจืดปลูกอยู่แถวบ้าน เราก็สามารถใช้ใบรางจืดที่ไม่แก่หรืออ่อนมากเกินไป หรือใช้รากที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป ในขนาดปริมาณเท่านิ้วชี้มาใช้เพื่อรักษาบรรเทาอาการของพิษเฉพาะหน้าไปก่อน ก่อนที่จะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยานั้นก็ได้แก่ ใบ ราก และเถาสด
สรรพคุณและประโยชน์ของรางจืด
- รากและเถาของรางจืดสามารถใช้รับประทานเป็นยาแก้ร้อนใน (ราก, เถา)
- รางจืดมีสรรพคุณช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ราก, เถา)
- ใบและรากของรางจืดมีสรรพคุณใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ได้ (ใบ, ราก)
- ใบรางจืดมีสรรพคุณใช้เป็นยาพอกบาดแผล (ใบ, ราก)
- ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ใบ, ราก)
- ช่วยแก้พิษจากสัตว์ที่เป็นพิษและพืชที่เป็นพิษ เช่น แก้พิษจากแมงดาทะเล ปลาปักเป้า ซึ่งเป็นพิษที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้โดยง่ายหากได้รับในปริมาณมาก ๆ โดยสารพิษที่ว่านี้คือ เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสารแก้พิษนี้โดยเฉพาะ การรักษาต้องรักษาแบบประคับประคองอาการ แต่การใช้รางจืดเพื่อรักษาพบว่าเมื่อผ่านไปประมาณ 40 นาทีผู้ป่วยกลับมีอาการดีขึ้นจนน่าประหลาดใจ (ใบ, ราก)
- รางจืดช่วยต่อต้านพิษจากสารตะกั่วต่อสมอง ซึ่งสารตะกั่วนี้ก็มาจากมลพิษจากเครื่องยนต์ และแน่นอนว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีโอกาสได้รับสารตะกั่วสูงกว่าคนทั่วไป โดยพิษจากสารตะกั่วนี้ก็มีผลต่อระบบภายในร่างกายหลายระบบด้วยกัน แต่ที่สำคัญเลยก็คือระบบสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้ มีงานวิจัยระบุออกมาว่า แม้รางจืดจะไม่ได้ช่วยลดระดับของสารตะกั่วในเลือดของหนูทดลอง แต่มันก็สามารถช่วยลดพิษของสารตะกั่วต่อระบบความจำและการเรียนรู้ในหนูทดลองได้ สรุปก็คือมันทำให้เซลล์ประสาทตายน้อยลงนั่นเอง (ใบ, ราก)
- ช่วยถอนพิษจากยาเบื่อชนิดต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม (เช่น พิษจากผลไม้ที่ติดอยู่ในฝักที่รับประทาน เป็นต้น) รวมไปถึงพิษจากสตริกนินให้เป็นกลาง ซึ่งจากการทดลองของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าถ้าหากใช้ผงจากรากรางจืดผสมกับน้ำยาสตริกนินก่อนป้อนให้หนูทดลอง ปรากฏว่าหนูทดลองไม่เป็นอะไร แสดงให้เห็นว่าผงจากรากรางจืดสามารถช่วยดูดซับสารพิษชนิดนี้ไว้ได้ (ใบ, ราก)
- ช่วยในการลดเลิกยาบ้า ซึ่งงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพบว่ารางจืดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทคล้าย ๆกับฤทธิ์ของสารเสพติดอย่างแอมเฟตามีนและโคเคน ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่หลั่งออกมามากในขณะที่ผู้ป่วยใช้สารแอมเฟตามีน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากรางจืดนั้นเกิดความพึงพอใจ เช่นเดียวกับการใช้สารเสพติด และหากนำไปใช้ในการรักษากับผู้ป่วยก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุรนทุรายมากนัก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยลดและเลิกการใช้เสพติดได้ (ใบ,ราก)
- รางจืด แก้เมา สรรพคุณช่วยแก้อาการเมาค้าง แก้พิษจากแอลกอฮอล์ พิษจากการดื่มเหล้าในปริมาณมากเกินไป โดยคณะเภสัชศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ของรางจืดในการต่อต้านพิษจากแอลกอฮอล์ต่อตับ และพบว่าสารสกัดด้วยน้ำของรางจืดนั้นสามารถช่วยป้องกันการตายของเซลล์ตับซึ่งเกิดจากพิษของแอลกอฮอล์และช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้ และมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้มีการศึกษาฤทธิ์ของรางจืดต่ออาการขาดเหล้า และพบว่าสารสกัดจากรางจืดช่วยทำให้ลดภาวะซึมเศร้า ทำให้พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในหนูทดลองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และยังช่วยลดการถูกทำลายเซลล์ประสาทของหนูเนื่องจากการขาดเหล้าได้ แต่ไม่มีผลต่อการช่วยลดความวิตกกังวล (ใบ, ราก)
- รางจืด เบาหวาน รางจืดช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมเบาหวานและความดันได้ จากงานศึกษาวิจัยของหมอชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ได้ทำการทดลองในหนูเบาหวานที่ได้รับน้ำต้มจากใบรางจืด ได้ผลว่ามันสามารถช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่าการให้สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดมีฤทธิ์ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และยังช่วยทำให้บีต้าเซลล์ของตับอ่อนฟื้นฟูขึ้นบ้างแม้จะไม่สมบูรณ์ และพบว่าสารสกัดจากน้ำของใบรางจืดนั้นมีผลทำให้ความดันโลหิตของหนูลดลง และช่วยทำให้หลอดเลือดแดงคลายตัว (การใช้สมุนไพรรางจืดในการรักษาโรคเบาหวานและความดันนั้น ควรรักษาร่วมไปกับแผนปัจจุบัน รวมทั้งมีการวัดระดับน้ำตาลและระดับความดันอย่างใกล้ชิด เพราะการศึกษาวิจัยดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับสัตว์เท่านั้น รวมไปถึงต้องระวังการเกิดการเสริมฤทธิ์กันเองของตัวยาดังกล่าวด้วย)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : decembertown