มุมมอง
โนรา สรรพคุณและประโยชน์
โนรา ชื่อวิทยาศาสตร์ Hiptage benghalensis (L.) Kurz ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Hiptage benghalensis var. benghalensis โดยจัดอยู่ในวงศ์โนรา (MALPIGHIACEAE)
สมุนไพรโนรา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สะเลา (เชียงใหม่), พญาช้างเผือก (แพร่), กำลังช้างเผือก (ภาคเหนือ), แหนปีก (ภาคอีสาน), กะลังจ่าง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น
ลักษณะของต้นโนรา
ต้นโนรา จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้เถาขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลและรวดเร็ว (เลื้อยไปได้ไกลประมาณ 10 เมตร) เถาเป็นสีเขียว ลักษณะกลมเกลี้ยง เนื้อไม้แข็ง ลำต้นแตกกิ่งก้านเล็กและห้อยลง (บ้างว่าแตกกิ่งก้านสาขามาก) ทรงต้นมีรูปร่างไม่แน่นอน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง แต่จะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง เพราะออกรากได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนช่วย สามารถพบได้ตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีน มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยจะพบได้ทุกภาค โดยจะขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา และป่าชายหาด ตั้งแต่ระดับใกล้น้ำทะเลไปจนถึง 2,000 เมตร
ใบโนรา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขน มีต่อมเล็ก ๆ อยู่ใกล้ฐานใบ
ดอกโนรา ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 9-22 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อน กลางดอกเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ คล้ายกลิ่นดอกส้มโอ มีกลีบดอก 5 กลีบขนาดไม่เท่ากัน กลีบข้างจะพับลง ปลายกลีบจักเป็นฝอย กลีบดอกมักยู่ยี่ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน และมี 1 ก้าน ที่ยาวเป็นพิเศษ ส่วนกลีบเลี้ยงหรือกลีบรองดอกมี 5 กลีบโคนเชื่อมติดกัน มีกลีบหนึ่งมีต่อมนูน ดอกจะบานอยู่ได้ประมาณ 3-4 วันแล้วก็ร่วง และจะมีดอกใหม่ทยอยบานอยู่เรื่อย ๆ โดยจะออกดอกในช่วงช่วงฤดูหนาวคือช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่บ้างก็ว่าจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ผลโนรา ผลเป็นผลแห้งไม่แตก เป็นสีแดง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย ปลายแหลม มีปีก 3 ปีก ปีกกลางมีขนาดใหญ่
สรรพคุณและประโยชน์ของโนรา
- แก่นโนราเป็นยาอายุวัฒนะ (แก่น)
- แก่นใช้ดองเป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น)
- แก่นและเปลือกต้นเป็นยาบำรุงโลหิต (แก่น, เปลือกต้น)
- แก่นมีรสร้อนขื่น ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น, เปลือกต้น)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (แก่น)
- ช่วยแก้อาการก่อนเพลีย (แก่น)
- ช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ (แก่น)
- แก่นใช้ดองกับเหล้าเป็นยาบำรุงกำหนัด (แก่น)
- เปลือกต้นนำมาตำพอกใช้รักษาแผลสด (เปลือกต้น)
- ใบมีรสร้อนขื่น ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง[2] รักษาหิด รูมาติก (ใบ)
- แก่นและเปลือกต้นเป็นยาบำรุงเส้นเอ็น (แก่น, เปลือกต้น)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : wikipedia