มุมมอง
ทานตะวัน สรรพคุณและประโยชน์
ทานตะวัน ชื่อสามัญ Common sunflower, Sunflower, Sunchoke
ทานตะวัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Helianthus annuus L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
สมุนไพรทานตะวัน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บัวทอง บัวตอง ทานตะวัน (ภาคเหนือ), บัวผัด บัวทอง (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ), ชอนตะวัน ทานตะวัน (ภาคกลาง), ทานหวัน (ภาคใต้), เซี่ยงยื่อขุย เซี่ยงยื้อขุย (จีนกลาง), เหี่ยงหยิกขุ้ย (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น
การที่ได้ชื่อว่า "ทานตะวัน" นั่นเป็นเพราะลักษณะการหันของช่อดอกและใบนั้นจะหันไปตามทิศทางของดวงอาทิตย์ โดยในตอนเช้าจะหันไปทางทิศตะวันออก และในช่วงเย็นจะหันไปทางทิศตะวันตกตามดวงอาทิตย์ แต่การหันจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ หลังมีการผสมเกสรแล้วไปจนถึงช่วงดอกแก่ ซึ่งช่อดอกจะหันไปทางทิศตะวันออกเสมอ
ลักษณะของทานตะวัน
ต้นทานตะวัน มีถิ่นกำเนิดและเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 3-3.5 เมตร ลำต้นตั้งตรงเป็นสีเขียวแกนแข็ง ไม่มีการแตกแขนง (ยกเว้นบางสายพันธุ์) ตามต้นมีขนยาวสีขาวค่อนข้างแข็งปกคลุมตลอด ส่วนรากเป็นระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดินประมาณ 150-270 เซนติเมตร มีรากแขนงค่อนข้างแข็งแรงและแผ่ขยายไปทางด้านข้างได้ถึง 60-150 เซนติเมตร เพื่อช่วยในการค้ำจุนต้นและสามารถใช้ความชื้นระดับผิวดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ใบทานตะวัน ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน หลังจากที่มีใบเกิดแบบตรงกันข้ามได้ 5 คู่แล้ว ใบที่เกิดหลังจากนั้นจะมีลักษณะวน โดยจำนวนของใบบนต้นอาจมีตั้งแต่ 8-70 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม หรือกลมเป็นรูปไข่ หรือเป็นรูปหัวใจ และสีของใบอาจมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้ม (แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์) ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 9-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบหยาบและมีขนสีขาวทั้งสองด้าน มีก้านใบยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแสงแดดจัดเพราะเป็นไม้กลางแจ้ง
ดอกทานตะวัน ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกที่ปลายยอด ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกมีขนาดใหญ่เป็นสีเหลืองเข้ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 25-30 เซนติเมตร มีกลีบดอกเป็นจำนวนมากเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายกลีบดอกแหลมเป็นสีเหลืองสด ส่วนด้านในคือช่อดอก มีลักษณะเป็นจาน ประกอบไปด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลางดอกมีเกสรสีน้ำตาลอมสีม่วงและภายในมีผลจำนวนมาก ดอกมีเกสรเพศเมียอยู่ตรงกลาง 1 อัน ส่วนเกสรเพศผู้มี 5 อัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว
ผลทานตะวัน (หรือโดยทั่วไปเรียกว่า "เมล็ดทานตะวัน") ผลเป็นผลแห้งและมีจำนวนมากอยู่ตรงฐานดอก ผลขนาดใหญ่จะอยู่วงรอบนอก ส่วนผลที่อยู่ใกล้กับกึ่งกลางจะมีขนาดเล็ก ผลมีลักษณะเป็นรูปรีและแบนนูน ด้านหนึ่งมน อีกด้านหนึ่งแหลม ผลมีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร เปลือกหุ้มผลแข็ง เปลือกผลเป็นสีเทาเข้มหรือสีดำและเป็นลาย ภายในผลมีเมล็ดสีเหลืองอ่อนเพียง 1 เมล็ด ลักษณะรียาว และในเมล็ดพบว่ามีน้ำมันเป็นจำนวนมาก โดยผลหรือเมล็ดทานตะวันจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ เมล็ดที่ใช้สกัดทำน้ำมัน (ผลเล็ก สีดำ เปลือกบาง), เมล็ดที่ใช้กิน (ผลใหญ่ เปลือกหนาไม่ติดกับเนื้อในเมล็ด) และเมล็ดที่ใช้สำหรับเลี้ยงนกหรือไก่
สรรพคุณและประโยชน์ของทานตะวัน
- น้ำมันจากเมล็ดทานตะวันมีรสร้อน สามารถช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือดได้ (น้ำมันจากเมล็ด)
- ใบทานตะวันมีรสเฝื่อน เป็นยาแก้เบาหวาน (ใบ)
- เมล็ดช่วยลดความดันโลหิต (เมล็ด) หรือจะใช้แกนหรือไส้ของลำต้นทานตะวันนำมาต้มกับน้ำดื่ม (แกนต้น) หรือจะใช้ใบทานตะวันสด 60 กรัม (ถ้าใบแห้งใช้ 30 กรัม) และโถวงู่ฉิกสด 60 กรัม (ถ้าแห้งใช้ 30 กรัม) นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม (ใบ)[4] ส่วนอีกวิธีเป็นการทดลองกับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 10 คน ด้วยการใช้ฐานรองดอกแห้งประมาณ 45 กรัมนำมาบดให้ละเอียดแล้วทำเป็นยาน้ำเชื่อม 100 มิลลิลิตร นำมาให้ผู้ป่วยกินครั้งละ 20 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง พบว่าหลังจากการศึกษาแล้ว 60 วัน ความดันโลหิตของผู้ป่วยลดลง โดยมีอาการดีขึ้น 4 คน และมีอาการดีขึ้นเล็กน้อย 4 คน ส่วนอีก 2 คน ไม่มีอาการดีขึ้นเลย (ฐานรองดอก)
- ช่วยทำให้อวัยวะภายในร่างกายชุ่มชื้น (เมล็ด)
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ตาลาย ด้วยการใช้ฐานรองดอกแห้งประมาณ 25-30 กรัมนำมาตุ๋นกับไข่ 1 ฟอง ใช้กินหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง (ดอก, ฐานรองดอก, ดอกและฝัก)
- เปลือกเมล็ดมีรสเฝื่อน ช่วยแก้อาการหูอื้อ ด้วยการใช้เปลือกเมล็ดทานตะวันประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกเมล็ด)
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ดอกแห้ง 25 กรัม นำมาสูบเหมือนยาสูบ หรือจะใช้ฐานรองดอก 1 อันและรากเกากี้นำมาตุ๋นกับไข่รับประทาน (ดอก, ฐานรองดอก, ดอกและฝัก)
- รากและลำต้นเป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (รากและลำต้น)
- ใช้เป็นยาแก้หวัด แก้อาการไอ แก้ไข้หวัด หากใช้แก้อาการไอให้ใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เหลือง แล้วนำมาชงกับน้ำดื่ม(เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด) ส่วนรากและลำต้นก็เป็นยาแก้ไอเช่นกัน (รากและลำต้น)
- ช่วยแก้อาการร้อนใน (รากและลำต้น)
- แกนหรือไส้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการไอกรนได้ หรือจะใช้แกนกลางของลำต้นนำมาโขลกให้ละเอียด ผสมกับน้ำตาลทรายขาว แล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม (แกนต้น)
- ใบ ราก และลำต้นช่วยแก้หอบหืด (รากและลำต้น, ใบ)
- ดอกมีรสเฝื่อน เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ (ดอก)
- เมล็ด น้ำมันจากเมล็ด ราก และลำต้นมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ ขจัดเสมหะ (รากและลำต้น, เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)
- ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ ด้วยการใช้ฐานรองดอกแห้งนำมาหั่นเป็นฝอย แล้วนำไปคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด นำมาชงกับน้ำอุ่นหรือเหล้าดื่มครั้งละ 10-15 กรัม วันละ 3 ครั้ง ซึ่งจากการใช้รักษาในผู้ป่วยจำนวน 122 คน พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น (ฐานของดอก)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : thai.ibarakiguide