มุมมอง
ข้าวเย็นใต้ สรรพคุณและประโยชน์
ข้าวเย็นใต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax glabra Roxb.] จัดอยู่ในวงศ์ข้าวเย็นเหนือ (SMILACACEAE) เช่นเดียวกับข้าวเย็นเหนือ
สมุนไพรข้าวเย็นใต้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยาหัว (เลย, นครพนม), หัวยาข้าวเย็น (เพชรบูรณ์), ยาหัวข้อ (ภาคเหนือ), หัวยาจีนปักษ์ใต้ (ภาคใต้), ข้าวเย็นโคกขาว, ถู่ฝุหลิง (ภาษาจีน), RHIZOMA (ภาษาละติน) เป็นต้น
ลักษณะของข้าวเย็นใต้
ต้นข้าวเย็นใต้ จัดเป็นพรรณไม้เลื้อย เถาและลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน เหง้ามีลักษณะกลมหรือแบนหรือเป็นก้อน มีรูปร่างที่ไม่แน่นอน ผิวไม่เรียบ พบก้อนแข็งนูนขึ้น เสมือนแยกเป็นแขนงสั้น ๆ เหง้ามีความกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-22 เซนติเมตร ผิวเป็นสีน้ำตาลเหลืองหรือเป็นสีเทาน้ำตาล ตามผิวพบส่วนที่เป็นหลุมลึกและนูนขึ้น มีร่องที่เคยเป็นจุดงอกของรากฝอย อาจพบปมของรากฝอยที่พร้อมจะงอกในลักษณะกลมยื่นนูนมาจากบริเวณผิวเหง้า และยังพบรอยแยกแตกเป็นร่อง ๆ บนผิวเปลือก เนื้อเหง้าเป็นสีขาวอมเหลือง สมุนไพรชนิดนี้มีรสหวาน ชุ่มชื่นและสมดุล ออกฤทธิ์ต่อตับและกระเพาะอาหาร และไม่มีกลิ่น
ใบข้าวเย็นใต้ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ปลายใบแหลมและบาง โคนใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-14 เนติเมตร ผิวใบมัน หน้าใบมีเส้นตามยาวประมาณ 3 เส้น มองเห็นได้ชัดเจน ส่วนหลังใบมีผงเหมือนแป้งสีขาว ก้านใบมีขนาดสั้น ยาวประมาณ 9-14 มิลลิเมตร
ดอกข้าวเย็นใต้ ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบ ในแต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 10-20 ดอก ดอกมีขนาดเล็ก เป็นสีเหลืองอมเขียว กลีบดอกมี 6 กลีบ กลีบดอกยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 4-15 มิลลิเมตร
ผลข้าวเย็นใต้ ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผลเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีแดงดำ
สรรพคุณและประโยชน์ของข้าวเย็นใต้
- ตามตำรับยาพื้นบ้านมุกดาหารและประเทศมาเลเซียจะใช้เหง้าเป็นยาบำรุง (หัว)
- หัวนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเลือด (หัว)
- ตำรับยาแก้เบาหวาน ให้ใช้หัวข้าวเย็นใต้ หัวข้าวเย็นเหนือ ใบโพธิ์ และไม้สักนำมาต้มในหม้อดิน ส่วนอีกตำรับยาหนึ่งให้ใช้หัวข้าวเย็นใต้ หัวข้าวเย็นเหนือ และต้นลูกใต้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (หัว)
- หัวข้าวเย็นใต้และหัวข้าวเย็นเหนือเป็นพืชสมุนไพรที่มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่ามีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง มีกลไกลการออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม จึงมักถูกนำไปใช้ในตำรับยารักษามะเร็งร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ อีกหลายตำรับ (หัว) ใช้หัวผสมในยาตำรับ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มะเร็ง ด้วยการบดยาหัวให้ละเอียด นำมาผสมกับส้มโมง ต้มจนแห้งแล้วผสมกับน้ำผึ้ง ใช้รับประทานวันละ 1 เม็ด (หัว)
- ต้นมีรสจืดเย็น เป็นยาแก้ไข้เรื้อรัง แก้ไข้ตัวร้อน (ต้น)
- ใบมีรสจืดเย็น เป็นยาแก้ไข้เหนือ แก้ไข้สันนิบาต (ใบ)
- ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการไข้อันเนื่องมาจากความเย็นชื้น (หัว)
- ช่วยขับไล่ความเย็น (หัว) ขับลมชื้นในร่างกาย ด้วยการใช้ข้าวเย็นทั้งสองอย่างละ 30 กรัม โกฐเขมา, โกฐหัวบัว, เจตมูลเพลิง, เถาวัลย์เปรียงอย่างละ 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะนำมาแช่กับเหล้า ด้วยการใส่เหล้าให้ท่วมตัวยา ทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำมารับประทานก็ได้ (หัว)
- หัวมีรสกร่อย เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ลำไส้ ตับ และไต ช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (หัว)[2] ช่วยแก้น้ำมูกไหล (หัว)
- ตำรับยาแก้ไข้ทับระดูและระดูทับไข้มีอยู่ 2 ตำรับ มีตัวยาในตำรับ 4 อย่างและ 6 อย่าง โดยใช้หัวข้าวเย็นใต้ หัวข้าวเย็นเหนือ ผสมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับแล้วนำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม (หัว)
- หัวช่วยแก้ประดง (หัว)
- ใช้แก้อาการไอ ให้ใช้หัวข้าวเย็นใต้ 5 บาทและหัวข้าวเย็นเหนือ 5 บาท นำมาต้มในหม้อดิน เติมเกลือทะเลเล็กน้อย ใช้ดื่มเป็นยาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (หัว)
- ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (หัว)
- ช่วยแก้อาการบวมของต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอ (หัว)
- ช่วยขับปัสสาวะ (หัว)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : medthai