การบูร สรรพคุณและประโยชน์
การบูร สรรพคุณและประโยชน์
ต้นการบูร เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินโดนีเซีย อินเดีย อียิปต์ แอฟริกาใต้ จาไมกา บราซิล สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นทรงพุ่มกว้างและทึบ มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร


การบูร สรรพคุณและประโยชน์

การบูร ชื่อสามัญ Camphor, Gum camphor, Formosan camphor, Laurel camphor

การบูร ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora (L.) J.Presl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Camphora officinarum Nees, Laurus camphora L.) จัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE)

สมุนไพรการบูร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า การะบูน การบูร (ภาคกลาง), อบเชยญวน (ไทย), พรมเส็ง (เงี้ยว), เจียโล่ (จีนแต้จิ๋ว), จางมู่ จางหน่าว (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของการบูร

ต้นการบูร เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินโดนีเซีย อินเดีย อียิปต์ แอฟริกาใต้ จาไมกา บราซิล สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นทรงพุ่มกว้างและทึบ มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1.5 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวหยาบ ส่วนเปลือกกิ่งเป็นสีเขียวหรือเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นและกิ่งเรียบไม่มีขน ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เมื่อนำมากลั่นแล้วจะได้ "การบูร" ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่ส่วนที่ของรากและโคนต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำ

ใบการบูร ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5.5-15 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างเหนียว หลังใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอมเทาหรือนวล ไม่มีขน เส้นใบขึ้นตรงมาจากโคนใบประมาณ 3-8 มิลลิเมตร แล้วแยกออกเป็นเส้น 3 เส้น ตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกนั้นมีต่อม 2 ต่อม และตามเส้นกลางใบอาจมีต่อมเกิดขึ้นตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกไป ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ไม่มีขน ที่ตาใบมีเกล็ดซ้อนเหลื่อมกันอยู่ โดยเกล็ดชั้นนอกจะเล็กกว่าเกล็ดชั้นในตามลำดับ และเมื่อนำใบมาขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นการบูร

ดอกการบูร ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาวอมสีเหลืองหรืออมสีเขียว ก้านดอกย่อยมีขนาดสั้นมาก ดอกรวมมีกลีบ 6 กลีบ เรียงเป็นวง 2 วง วงละ 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรี ปลายมน ด้านนอกเกลี้ยง ส่วนด้านในมีขนละเอียด ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 ก้าน เรียงเป็นวง 3 วง วงละ 3 ก้าน ส่วนอับเรณูของวงที่1 และ 2 หันหน้าเข้าด้านใน ที่ก้านเกสรมีขน ส่วนวงที่ 3 จะหันหน้าออกทางด้านนอก ที่ก้านเกสรค่อนข้างใหญ่ มีต่อม 2 ต่อม อยู่ใกล้กับก้าน ลักษณะของต่อมเป็นรูปไข่กว้างและมีก้าน อับเรณูจะมีช่องเปิด 4 ช่อง เรียงกันเป็นแถว 2 แถว แถวละ 2 ช่อง มีลิ้นเปิดทั้ง 4 ช่อง ส่วนเกสรเพศผู้เป็นหมันมี 3 ก้าน อยู่ด้านในสุด ลักษณะเป็นรูปร่างคล้ายหัวลูกศร มีแต่ขนและไม่มีต่อม ส่วนรังไข่เป็นรูปไข่ ไม่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ไม่มีขน ปลายเกสรเพศเมียมีลักษณะกลม ส่วนใบประดับมีลักษณะเรียวยาว ร่วงได้ง่าย และมีขนอ่อนนุ่ม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม

ผลการบูร ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือกลม และเป็นผลแบบมีเนื้อ ผลเป็นสีเขียวเข้มมีขนาดยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลมีฐานดอกซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นแป้นรองรับผล ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

การบูร คือผลึกที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ของต้นการบูร ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งต้น โดยมักจะอยู่ตามรอยแตกของเนื้อไม้ และมีมากที่สุดในแก่นของราก รองลงมาคือส่วนแก่นของต้น ซึ่งส่วนที่อยู่ใกล้กับโคนต้นจะมีการบูรมากกว่าส่วนที่อยู่เหนือขึ้นมา ส่วนในใบและยอดอ่อนมีการบูรอยู่น้อย โดยในใบอ่อนจะมีน้อยกว่าใบแก่ ซึ่งผงการบูรนั้นจะมีลักษณะเป็นเกล็ดกลม ๆ ขนาดเล็ก เป็นสีขาวและแห้ง อาจจับกันเป็นก้อนร่วน ๆ และแตกง่าย เมื่อทิ้งไว้ในอากาศจะระเหิดไปหมด โดยจะมีรสปร่าเมา

ภาพจาก : dmscsmartlifeblog.com

สรรพคุณและประโยชน์ของการบูร

  1. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (การบูร, เนื้อไม้) ช่วยแก้ธาตุพิการ (การบูร) ช่วยคุมธาตุ (เมล็ดใน, เปลือกต้น)
  2. การบูรมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจและเป็นยากระตุ้นหัวใจ (การบูร)
  3. ใช้เป็นยาระงับประสาท (การบูร)
  4. ช่วยแก้เลือดลม (การบูร) รากและกิ่งเป็นยาช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนดี (รากและกิ่ง)
  5. ช่วยแก้โรคตา (การบูร)
  6. ช่วยแก้อาการปวดฟัน (การบูร)
  7. ช่วยในการขับเหงื่อ (การบูร, เนื้อไม้)
  8. ช่วยแก้ไข้หวัด (การบูร)
  9. ช่วยแก้อาการไอ (การบูร)
  10. ช่วยขับเสมหะ ทำลายเสมหะ (การบูร, เนื้อไม้)
  11. ช่วยขับความชื้นในร่างกาย (การบูร), ช่วยขับลมชื้น (รากและกิ่ง)
  12. ช่วยขับผายลม แก้อาการจุกแน่นเฟ้อ เมื่อนำเกล็ดการบูรมารับประทานเพียงเล็กน้อย จะช่วยขับลมได้ แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน (การบูร, เนื้อไม้) เมล็ดมีสรรพคุณแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (เมล็ด) ส่วนรากและกิ่งมีสรรพคุณแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ลมขึ้น จุกเสียดแน่นหน้าอก (รากและกิ่ง)
  13. ช่วยแก้กระเพาะหรือลำไส้อักเสบ (เมล็ด)
  14. ช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องร่วง (การบูร, เนื้อไม้)แก้ปวดท้อง ปวดกระเพาะ (การบูร) แก้อาการปวดท้อง (รากและกิ่ง) ส่วนเมล็ดในมีรสฝาด เป็นยาแก้บิด ปวดเบ่ง ท้องร่วง (เมล็ดใน)
  15. เมล็ดใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้องน้อย (เมล็ด)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : piromwaroon



ปฏิกิริยาของคุณ?