มุมมอง
ต้นแก้ว (ดอกแก้ว) สรรพคุณและประโยชน์
แก้ว ชื่อสามัญ Andaman satinwood, Chanese box tree, Cosmetic bark tree, Orange jasmine, Orange jessamine, Satin wood
แก้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Murraya paniculata (L.) Jack (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Murraya exotica L.) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)
สมุนไพรแก้ว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จ๊าพริก (ลำปาง), แก้วลาย (สระบุรี), แก้วขี้ไก่ (ยะลา), แก้วพริก ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ), แก้วขาว (ภาคกลาง), กะมูนิง (มลายู-ปัตตานี), จิ๋วหลี่เซียง (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของต้นแก้ว
ต้นแก้ว เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และในออสเตรเลีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคในป่าดิบแล้งจากที่ราบสูงจนถึงที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแตกเป็นร่อง ๆ เนื้อไม้สีขาวนวล เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดเต็มวัน-รำไร และความชื้นปานกลาง-ต่ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอน
ใบแก้ว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-9 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักมนเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร แผ่นใบคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบมีสีอ่อนกว่า ใบมีต่อมน้ำมัน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นฉุนคล้ายผิวส้มเป็นน้ำมันติดมือ
ดอกแก้ว ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอมจัด กลีบดอกมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 7-9 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกติดกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผลแก้ว ลักษณะของผลเป็นกลมรีหรือเป็นรูปไข่ ปลายสอบเล็กน้อย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดงอมส้ม ผิวผลมีต่อมน้ำมันเห็นได้ชัดเจน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะรีหรือเป็นรูปไข่ ปลายสอบ มีขนหนาและเหนียวหุ้มโดยรอบเมล็ด สีขาวขุ่น เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-9 มิลลิเมตร
สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแก้ว
- ใบมีรสร้อนเผ็ดและขม ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)
- ช่วยคลายการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมเป็นไปได้ดีขึ้น (ราก)
- ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ดอก, ใบ)
- ช่วยแก้อาการไอ (ดอก, ใบ)
- ราก ก้าน และใบสดสามารถนำมาใช้เป็นยาชาระงับอาการปวดได้ จึงมีการนำมาใช้เป็นยาแก้อาการปวดฟันและปวดกระเพาะ (ราก, ก้าน, ใบสด) บ้างก็ว่าก้านและใบสดมีรสเผ็ดร้อนขม นำมาต้มใช้เป็นยาอมบ้วนปากแก้อาการปวดฟันได้เช่นกัน (ก้านใบ, ใบสด)
- รากใช้เป็นยาแก้ฝีฝักบัวที่เต้านม (ราก)
- รากใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้นในร่างกาย แต่ต้องนำไปใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน (ราก)
- ใบช่วยแก้ท้องเสีย (ใบ)
- ช่วยแก้บิด (ใบ)
- ใบช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ (ใบ)
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก, ใบ)
- ใช้เป็นยาแก้ปวดกระเพาะ ด้วยการใช้ใบแก้วแห้ง, กานพลู, เจตพังคี, และเปลือกอบเชย นำมาบดเป็นผงใช้ชงกับน้ำร้อนเป็นยารับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง หรือจะนำผงที่ได้มาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลืองก็ได้ โดยใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง (ใบแห้ง)
- ใบใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด (ใบ)
- ใบใช้เป็นยาขับประจำเดือนหรือระดูของสตรี (ใบ) หรือจะใช้รากแห้งประมาณ 10-15 กรัม (สดให้ใช้ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (รากแห้ง)
- รากและต้นแห้งนำมาหั่นและต้มเคี่ยวแล้วกรองเอาแต่น้ำมาใช้ ช่วยเร่งการคลอดบุตรของสตรี โดยใช้ผ้าพันแผลจุ่มกับน้ำยาสอดเข้าไปที่ปากมดลูก (ราก, ต้นแห้ง)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : cc-aroma