โคลงเคลง สรรพคุณและประโยชน์
โคลงเคลง สรรพคุณและประโยชน์
ต้นโคลงเคลง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มาเลเซีย ออสเตรเลีย[6] โดยจัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลแดง กิ่งเป็นเหลี่ยม ทุกส่วนของลำต้นมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและวิธีการแยกกอ กระจายพันธุ์ด้วยเมล็ด


โคลงเคลง สรรพคุณและประโยชน์

โคลงเคลง ชื่อสามัญ Malabar gooseberry, Malabar melastome, Melastoma, Indian rhododendron, Singapore rhododendron , Straits rhododendron

โคลงเคลง ชื่อวิทยาศาสตร์ Melastoma malabathricum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Melastoma malabathricum subsp. malabathricum) จัดอยู่ในวงศ์โคลงเคลง (MELASTOMATACEAE)

สมุนไพรโคลงเคลง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โคลงเคลงขี้นก โคลงเคลงขี้หมา (ตราด), มายะ (ชอง-ตราด), อ้า อ้าหลวง (ภาคเหนือ), เบร์ มะเหร มังเคร่ มังเร้ สาเร สำเร (ภาคใต้), ซิซะโพ๊ะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตาลาเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กะดูดุ กาดูโด๊ะ (มลายู-ปัตตานี), เหม่ เป็นต้น

ลักษณะของโคลงเคลง

ต้นโคลงเคลง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มาเลเซีย ออสเตรเลีย[6] โดยจัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลแดง กิ่งเป็นเหลี่ยม ทุกส่วนของลำต้นมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและวิธีการแยกกอ กระจายพันธุ์ด้วยเมล็ด สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ โดยพันธุ์ไม้ในสกุลนี้ ในเมืองไทยมีอยู่ประมาณ 10 กว่าชนิด แต่สำหรับชนิดนี้จะพบขึ้นได้ตามที่ลุ่ม ในพื้นราบที่ชุ่มชื้น ขอบป่าพรุ ตลอดจนถึงบนภูเขาสูงทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ใบโคลงเคลง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ และสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบและโคนใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.7-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-14 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างแข็ง ผิวใบมีเล็ดเล็กแหลม มีเส้นใบออกจากโคนใบไปจรดกันที่ปลายใบประมาณ 3-5 เส้น ส่วนเส้นใบย่อยเรียงแบบขั้นบันไดและไม่มีหูใบ

ดอกโคลงเคลง ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อละประมาณ 3-5 ดอก ดอกเมื่อบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีม่วงอมสีชมพู โดยทั่วไปดอกจะมีกลีบดอก 5 กลีบ หรือมีกลีบ 4 กลีบ หรือ 6 กลีบก็มี ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีถ้วยรองดอกปกคลุมด้วยเกล็ดแบนเรียบ ดอกเป็นช่อแบบสมบูรณ์เพศ ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 10 ก้านเรียงเป็นวง 2 วง และมีรยางค์สีม่วงโค้งงอ ส่วนรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีมากในช่วงฤดูฝน

ผลโคลงเคลง ผลมีลักษณะคล้ายลูกข่าง มีขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร และมีขนปกคลุม เนื้อในผลเป็นสีแดงอมสีม่วง ผลเมื่อแก่เปลือกผลจะแห้งแล้วแตกออกตามขวาง ผลมีความยาวประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก หรือผลมีเนื้อนุ่มอยู่หลายเมล็ด

ภาพจาก : flickr.com

สรรพคุณและประโยชน์ของโคลงเคลง

  1. ดอกเป็นยาระงับประสาท (ดอก)
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)
  3. ช่วยบำรุงร่างกาย (ราก)
  4. รากใช้ปรุงเป็นยาแก้มะเร็ง (ราก)
  5. รากใช้ปรุงเป็นยาดับพิษไข้ (ราก)
  6. รากช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ (ราก)
  7. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  8. ใบต้มกับน้ำหรือน้ำคั้นจากใบ ใช้เป็นยากลั้วคอหรือยาบ้วนปาก เพื่อใช้แก้เชื้อราในช่องปากหรือลำคอ (ใบ)
  9. ช่วยแก้คอพอก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  10. ใบต้มกับน้ำหรือน้ำคั้นจากใบ ใช้รักษาโรคท้องร่วง โรคบิด (ใบ)
  11. ใช้เป็นยาแก้อาการถ่ายเป็นเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  12. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ)
  13. ดอกใช้เป็นยาห้ามเลือดในคนที่เป็นริดสีดวงทวาร (ดอก)
  14. ใช้รักษาโรคระดูขาวของสตรี (ใบ)
  15. ช่วยรักษาโรคโกโนเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคหนองในแท้) (ใบ)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : youtube : Janhom



ปฏิกิริยาของคุณ?