มุมมอง
เตยทะเล สรรพคุณและประโยชน์
เตยทะเล ชื่อสามัญ Seashore screwpine
เตยทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pandanus odoratissimus L.f.) จัดอยู่ในวงศ์เตยทะเล (PANDANACEAE)
สมุนไพรเตยทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า การะเกด ลำเจียก (ภาคกลาง), ปะหนัน ปาแนะ (มลายู-นราธิวาส), เกตก์, การเกด, ลำจวน, รัญจวน เป็นต้น
ลักษณะของเตยทะเล
ต้นเตยทะเล หรือ ต้นลำเจียก มีถิ่นกำเนิดตามชายหาดทั่วคาบสมุทรในแถบเส้นศูนย์สูตรรอบโลก โดยพบขึ้นเป็นดงอยู่ตามชายหาด ตั้งแต่หมู่เกาะของฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม คาบสมุทรมลายู หมู่เกาะฮาวาย อินเดีย ออสเตรเลีย พอลินีเชีย และวานูอาตู ส่วนในประเทศไทยพบได้มากที่จังหวัดตรังและสตูล[6] ต้นเตยทะเลและต้นลำเจียกจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลักษณะเป็นทรงพุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 5-6 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-20 เซนติเมตร โคนต้นมีรากอากาศช่วยค้ำจุนลำต้น ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน ๆ มีหนามแหลมสั้นกระจายอยู่ทั่วไป พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกกอหรือหน่อ (ทำได้ในปีที่ 2) และวิธีการเพาะเมล็ด (ทำได้ไม่ยาก แต่ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีเมล็ดให้เพาะ) ปลูกขึ้นได้ดีในดินอุดมร่วนซุยหรือดินเหนียวปนทรายที่อุ้มน้ำได้ดี ต้องการความชื้นและน้ำปริมาณมาก และชอบแสงแดด มักขึ้นตามชายน้ำ ชายทะเล
ใบเตยทะเล ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว ออกเรียงสลับเวียนรอบกิ่งที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม ส่วนขอบทั้งสองข้างจะหยักและมีหนามแหลมคม ปลายหนามมีลักษณะโค้งไปทางปลายใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1 เมตร เนื้อใบเหนียว ใต้ท้องใบมีแกนกลาง
ดอกเตยทะเล ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด ปลายกิ่ง หรือออกตามซอกใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้มีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ไม่มีกลีบดอก มีกาบรองดอกสีขาวนวล 2-3 กาบ ส่วนดอกเพศเมียเป็นสีเขียว อยู่ติดกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ และมีกาบรองดอกสีเขียว 2-3 กาบ โดยดอกจะเริ่มบานในช่วงเย็นและจะมีกลิ่นหอมฉุน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ตามตำราระบุว่าต้นที่มีดอกเพศผู้จะเรียกว่า "ลําเจียก" ส่วนต้นที่มีดอกเพศเมียจะเรียกว่า "เตยทะเล"
ผลเตยทะเล ผลเป็นผลรวมคล้ายผลสับปะรด ลักษณะเป็นรูปกลมหรือขอบขนาน ผลมีลักษณะแข็ง ปลายมีหนามสั้น ๆ ติดกันเป็นกลุ่มแน่น ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีส้มอมแดง และมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกระสวย สามารถออกผลได้ตลอดทั้งปี
สรรพคุณและประโยชน์ของเตยทะเล
- ช่อดอกเพศผู้ของต้นเตยทะเลจัดอยู่ในตำรับยาเกสรทั้งเก้า ใช้ปรุงเป็นยาหอม และยาบำรุงหัวใจ (ช่อดอกเพศผู้)
- รากมีรสเย็นและหวานเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษโลหิต (ราก)
- ช่วยแก้พิษไข้ (ราก)
- ช่วยแก้พิษเสมหะ ขับเสมหะ (ราก)
- รากเป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่ว (ราก)
- รากอากาศใช้ปรุงเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการและแก้นิ่ว (รากอากาศ)
- ช่วยรักษาหนองใน (รากอากาศ)
- ช่วยแก้มุตกิด ระดูขาวมีกลิ่นเหม็น (รากอากาศ)
- นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เพียงแต่ว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่มีแหล่งอ้างอิง ผู้เขียนจึงไม่ยืนยันว่าพรรณไม้ชนิดนี้จะมีสรรพคุณตามที่เขียนไว้หรือไม่ ซึ่งตามข้อมูลได้ระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่ผู้เขียนกล่าวมาแล้วว่า รากอากาศนั้นมีสรรพคุณแก้กษัยไตพิการ ช่อดอกเพศผู้เป็นยาแก้ลม ส่วนต้นใช้เป็นยาแก้กษัยน้ำเบาพิการ ยาขับปัสสาวะ และยาแก้โรคเบาหวาน และใช้ใบเป็นยาเย็นบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น รักษาโรคผิวหนัง และแก้หัด
- ผลใช้รับประทานได้
- ใบนำมาใช้สานเป็นเสื่อและเครื่องใช้ประเภทจักสานได้
- เปลือกสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกได้
- นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ขึ้นได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ดินเค็ม ชายน้ำ ชายหาด ลำคลอง หนอง บึง สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อม น้ำขังแฉะ น้ำเค็ม โรคและเมลงศัตรูพืชได้ดี และชาวบ้านนิยมชอบปลูกไว้เพื่อบังลม ต้นเตยทะเลสามารถทนต่อลมแรงและอากาศแล้งได้ดี อีกทั้งต้นเป็นพุ่มใหญ่ ใบและต้นมีหนาม จึงใช้ปลูกเป็นรั้วบ้านได้
- นอกจากจะปลูกเป็นไม้ประดับแล้ว ยังสามารถใช้ปลูกคลุมวัชพืชได้ดี เพราะมีใบหนาแน่น
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : portal.dnp.go.th