ประยงค์ สรรพคุณและประโยชน์
ประยงค์ สรรพคุณและประโยชน์
ต้นประยงค์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่มทึบค่อนข้างกลม มีความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตรและสูงไม่เกิน 5 เมตร


ประยงค์ สรรพคุณและประโยชน์

ประยงค์ ชื่อสามัญ Chinese rice flower

ประยงค์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaia odorata Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)

สมุนไพรประยงค์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขะยง ขะยม พะยงค์ ยม (ภาคเหนือ), ประยงค์บ้าน ประยงค์ใบใหญ่ (ภาคกลาง), หอมไกล (ภาคใต้) เป็นต้น

ลักษณะของประยงค์

ต้นประยงค์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่มทึบค่อนข้างกลม มีความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตรและสูงไม่เกิน 5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง และวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ ทนความแห้งแล้งได้ดีมาก แต่ควรปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดตลอดทั้งวัน เพราะจะช่วยทำให้มีทรงพุ่มสวยงาม

ใบประยงค์ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับ ใบย่อยมี 5 ใบ (บางใบอาจมีใบย่อยเพียง 3 ใบ) ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบแผ่ออกเป็นปีก

ดอกประยงค์ ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ในแต่ละช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กมากกว่า 10 ดอก ดอกย่อยเป็นสีเหลืองและมีกลิ่นหอมแรง ลอยไปได้ไกล (แม้ดอกแห้งก็ยังมีกลิ่นหอมอยู่) มีกลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกซ้อนกันไม่บานออก ลักษณะเป็นรูปทรงกลมเล็กคล้ายไข่ปลาสีเหลือง สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ตลอดทั้งวัน

ผลประยงค์ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี มีขนาดประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มเกือบดำ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล 1-2 เมล็ด

ภาพจาก : idealize.co.th

สรรพคุณและประโยชน์ของประยงค์

  1. ในประเทศฟิลิปปินส์จะใช้รากและใบนำมาต้มเป็นยาบำรุงร่างกาย (รากและใบ)
  2. ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้ผอมแห้งแรงน้อย (ราก)
  3. ดอกมีรสเฝื่อนขมเล็กน้อย ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้หูตาสว่าง จิตใจปลอดโปร่ง แก้อาการเมาค้าง (ดอก)
  4. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ราก)
  5. ดอกช่วยดับร้อน แก้อาการกระหายน้ำ (ดอก) ยาชงจากดอกใช้ดื่มแบบน้ำชาจะเป็นยาเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พุพอง (ดอก)
  6. ช่วยแก้อาการไอ (ดอก) แก้ไอหืด (ดอก)
  7. รากช่วยแก้เลือด แก้กำเดา (ราก)
  8. รากมีรสเฝื่อนเย็น ใช้รับประทานเป็นยาทำให้อาเจียน (ราก)
  9. ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด (ราก)
  10. ใช้เป็นยากวาดเด็ก แก้เสมหะด่าง (ดอก)
  11. ช่วยลดอาการอึดอัดแน่นหน้าอก (ดอก)
  12. ช่วยฟอกปอด (ดอก)
  13. รากและใบใช้แก้โรคที่เกี่ยวกับทรวงอก อาการชัก และแก้ไข้ (รากและใบ)
  14. ช่วยแก้ลมจุกเสียด (ดอก)
  15. ช่วยแก้ริดสีดวงในท้อง (ดอก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : khaosod



ปฏิกิริยาของคุณ?