มุมมอง
ขันทองพยาบาท สรรพคุณและประโยชน์
ขันทองพยาบาท ชื่อวิทยาศาสตร์ Suregada multiflora (A.Juss.) Baill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gelonium multiflorum A.Juss.) จัดอยูในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)
สมุนไพรขันทองพยาบาท มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยางปลวก ยางปลอก ยายปลวก ฮ่อสะพานควาย (แพร่, น่าน), ทุเรียนป่า ไฟ (ลำปาง), ขุนตาก ข้าวตาก (กาญจนบุรี), ขันทองพยาบาทเครือ ขัณฑสกร ช้องลำพัน สลอดน้ำ (จันทบุรี), มะดูกดง (ปราจีนบุรี), ขันทอง (พิษณุโลก), ดีหมี (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์), ขันทองพยาบาท ดูดหิน (สระบุรี), ดูกใส ดูกไทร ดูกไม้ เหมือนโลด (เลย), ดูกไหล (นครราชสีมา), ขนุนดง ขุนดง (หล่มสัก-เพชรบูรณ์), ข้าวตาก ขุนทอง คุณทอง (ประจวบคีรีขันธ์), ขอบนางนั่ง (ตรัง), มะดูกเหลื่อม (ภาคเหนือ), มะดูกเลื่อม (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ขันทองพยาบาท มะดูก หมากดูก (ภาคกลาง), กะดูก กระดูก (ภาคใต้), หมากดูด (ไทย), เจิงโจ่ง(ส่วย-สุรินทร์), มะดูกเลี่ยม, เหมือดโรค, ป่าช้าหมอง, ยายปลูก เป็นต้น
ลักษณะของขันทองพยาบาท
ต้นขันทองพยาบาท มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแถบประเทศอินเดีย พม่า ไทย อินโดจีน และในคาบสมุทรมลายู จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 7-13 เมตร ลำต้นตั้งตรง เป็นทรงพุ่มแน่นทึบ แตกกิ่งก้านค่อนข้างกลม กิ่งก้านอ่อนและห้อยลู่ลง ที่กิ่งจะมีขนรูปดาว เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแก่และแตกเป็นร่องแบบตื้น ๆ ตามยาว เนื้อไม้เป็นสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ตามป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร
ใบขันทองพยาบาท ใบหนาแข็งและดกทึบ โดยใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบแหลม ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีความกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-22 เซนติเมตร เนื้อใบมีลักษณะหนาเหนียวคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบและมีสีอ่อนกว่า ผิวใบด้านล่างมีต่อมสีเหลืองและมีขนเป็นรูปดาว มีเส้นใบข้าง 5-9 คู่ มีก้านใบยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ส่วนหูใบมีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร แต่ละคู่เชื่อมกัน หลุดร่วงได้ง่าย และจะทิ้งแผลเป็นวงไว้
ดอกขันทองพยาบาท ดอกมีกลิ่นหอมสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ ขนาดประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ในช่อดอกจะมีดอกอยู่ประมาณ 5-10 ดอก อยู่ตรงข้ามกับใบ ดอกมีใบประดับลักษณะเป็นรูปหอกปลายแหลมยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรและกว้างประมาณ 0.7-0.8 มิลลิเมตร ส่วนดอกจะเป็นแบบแยกเพศแยกต้นและไม่มีกลีบดอก โดยดอกเพศผู้จะมีขนาดประมาณ 2.5 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศผู้ประมาณ 35-60 ก้าน แต่ละอันจะมีต่อมอยู่ที่ฐาน ฐานรองดอกนูนพองออก และอาจพบเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันปะปนอยู่ด้วย ส่วนดอกเพศเมียจะมีลักษณะเหมือนกับดอกเพศผู้ แต่จะมีรังไข่เหนือวงกลีบ มีขนอยู่หนาแน่น มีรังไข่ 3 ช่อง รังไข่มีขนละเอียดและมีหมอนรองดอก มีก้านเกสรเพศเมีย 3 ก้าน ก้านดอกยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กลีบรองดอกหนามี 5 กลีบ โคนเชื่อมกันเล็กน้อยและขอบจักเป็นซี่ฟัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผลขันทองพยาบาท ผลมีลักษณะเกือบกลม ผิวผลเกลี้ยง มีขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเหลืองอมส้ม แตกตามพู มีพู 3 พูและมีติ่งเล็ก ๆ อยู่ที่ยอด ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดประมาณ 7-8 มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีเนื้อบาง ๆ สีขาวหุ้มเมล็ดอยู่ โดยจะติดผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
สรรพคุณและประโยชน์ของขันทองพยาบาท
- เปลือกต้นมีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาบำรุงเหงือก ใช้รักษาเหงือกอักเสบ ทำให้ฟันทน เหงือกแข็งแรง (เปลือกต้น)
- ตำรายาไทยเนื้อไม้มีรสเฝื่อนเมา ช่วยแก้ไข้ (เนื้อไม้) บ้างว่าใช้รากนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ราก)
- ช่วยแก้ลมและโลหิตเป็นพิษ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)
- ใช้เป็นยาซาง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- รากมีรสเมาเบื่อร้อน ช่วยแก้ลม (ราก)
- ช่วยแก้ปอดพิการ (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้เป็นยาถ่าย เป็นยาระบาย (เปลือกต้น)
- ใช้เป็นยาแก้เส้นท้องตึง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ (เนื้อไม้,เปลือกต้น)
- ช่วยรักษากามโรค (เนื้อไม้,เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาน้ำเหลืองเสีย (เนื้อไม้, ราก)
- ช่วยถ่ายน้ำเหลืองเสีย (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาโรคตับพิการ (เปลือกต้น)
- เนื้อไม้และเปลือกต้นใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังทุกชนิด ผดผื่นคัน รักษาโรคเรื้อน กลากเกลื้อน รักษามะเร็ง มะเร็งคุดทะราด ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มแล้วพอกหรือตำคั้นเอาแต่น้ำนำมาใช้ทารักษาโรคผิวหนัง (เนื้อไม้, เปลือกต้น) ส่วนรากก็ช่วยแก้โรคผิวหนังได้เช่นกัน (ราก)
- ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน