มุมมอง
กูเกิลมีแนวทางพัฒนาแอพบน Android ยุคใหม่ที่เรียกว่า Modern Android Development (MAD) มาได้สักระยะแล้ว ประกอบด้วยภาษา Kotlin, เครื่องมือ Android Studio, ชุด API Jetpack, และชุดเขียน UI Jetpack Compose
กรณีของ Jetpack Compose เป็นชุดเครื่องมือสร้าง UI แบบเนทีฟสำหรับ Kotlin ที่ออกเวอร์ชัน 1.0 ในปี 2021 และเริ่มมีแอพดังๆ หลายตัวนำมาใช้แล้ว เช่น Twitter, Airbnb, Pinterest
ส่วนแอพของกูเกิลเองที่ใช้งานแล้วคือ Google Play Store โดยล่าสุดกูเกิลออกมาเล่าเบื้องหลังและบทเรียนการเปลี่ยนมาใช้ Jetpack Compose
กูเกิลเล่าว่า Google Play Store ถูกเขียนขึ้นมานาน 10 ปีแล้ว มีหนี้ทางเทคนิค (tech debt) สั่งสมมานาน จึงต้องการเฟรมเวิร์คใหม่ๆ ที่ให้นักพัฒนาหลายร้อยคนทำงานร่วมกันได้ โดยไม่กระทบคุณภาพหรือประสิทธิภาพของแอพ
เมื่อปี 2020 ทีมงาน Google Play Store ตัดสินใจย้ายไปใช้ Jetpack Compose ซึ่งตอนนั้นยังมีสถานะ pre-Alpha แต่เนื่องจากเป็นพนักงานกูเกิลเหมือนกัน ทั้งสองทีมจึงทำงานร่วมกันตั้งแต่ช่วงพัฒนา Jetpack Compose ให้ตอบโจทย์ของฝั่ง Google Play Store ด้วย
ผลการเปลี่ยนมาใช้ Jetpack Compose พบว่า
- จำนวนโค้ดลดลง บางกรณีอาจลดลงถึง 50% แถมเขียนเป็น Kotlin ล้วนๆ ไม่ต้องผสม Java + XML
- ประสิทธิภาพดีขึ้น ระยะเวลาการเรนเดอร์เพจครั้งแรกลดลง 50% และการกระตุก (jank) ลดลง 10-15%
ที่มา - Google