มุมมอง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท แบรนด์เวิร์ส จำกัด เปิดตัว T-Verse : Thailand Multiverse Bridge Platform แห่งแรกของไทย ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฑาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ประธานคณะกรรมการ Thammasat Metaverse เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งหมด 4 วิทยาเขต ได้แก่ ศูนย์ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา และล่าสุด กำลังจะมาศูนย์ที่ 5 บนโลก Metaverse ภายใต้ชื่อ Thammasat Metaverse Campus ในแพลตฟอร์ม “T-Verse”
Thammasat Metaverse Campus จะมีตึกโดมซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของธรรมศาสตร์อยู่ด้วย โดยมีการออกแบบให้มีรูปร่างที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น มีอัตลักษณ์ความเป็นธรรมศาสตร์อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันโลกการศึกษาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การการเรียนสอนด้วยการจดบันทึกกำลังจะหายไป และถูกแทนที่ด้วยการสอนในเชิงปฏิบัติ ซึ่งเชื่อว่า Thammasat Metaverse Campus จะเป็น Open Platform Ecosytem เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในยุคอนาคต และทำให้เด็กหรือผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงานมีทักษะ เพื่อกลับไปทำงานหาเลี้ยงชีพ หรือสร้างสตาร์ทอัพรายใหม่ได้
สำหรับโลกใน Thammasat Metaverse Campus เฟส 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วางแผนดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ 4 ข้อ คือ
1.Immersive Learning Classrooms ยกระดับประสบการณ์การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ หลัง COVID-19 เข้ามาแพร่ระบาด ทำให้การเรียนการสอนออนไซต์กลายเป็นออนไลน์ในชั่วข้ามคืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะทำงานอย่างหนัก เพื่อยกระดับประสบการณ์ให้นักศึกษา หรือแม้ว่า COVID-19 จะหายไป Thammasat Metaverse Campus ก็พร้อมจะตอบโจทย์ และให้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหนือกว่าการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว
ในห้องเรียนจึงต้องเป็น Immersive learning ที่จะเปิดประสบการณ์ให้นักศึกษาทั้งออนไลน์ และออนไซต์ ก้าวข้ามข้อจำกัดการเรียนรู้ต่าง ๆ อย่าง จำนวนอาจารย์ใหญ่ที่มีคุณค่าต่อการศึกษาการแพทย์ จำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ แต่ Thammasat Metaverse จะเข้ามาช่วยให้นักศึกษาสามารถฝึกผ่าตัดกับร่างกายเสมือนจริงได้ ทำให้มีทักษะมากกว่าการอ่านในหนังสือเท่านั้น
2.VR Museum of History, Culture and Democracy นอกจากการเรียนวิชาการแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมุ่งเน้นการเรียนการสอนนอกห้องเรียน โดยจะเปิดพื้นที่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมาอย่างยาวนาน ให้ทุกคนสามารถย้อนเวลาผ่านยุคสมัยเพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ได้มากกว่าการท่องจำ และเข้าใจบริบทต่าง ๆ จากประสบการณ์ที่ได้รับบนเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง หรือ Virtual Reality (VR) Technology "เพื่อให้ทุกคนเข้าใจประวัติศาสตร์จากบริบท สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคต่าง ๆ ไม่ใช่แค่การท่องจำ"
3.Next Generation Omnichannel Marketplace จากการทำงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ร่วมสนับสนุนและมีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต่าง ๆ มาเป็นเวลาหลายปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะนำพาธุรกิจเหล่านี้สู่ขั้นถัดไป ด้วยการเพิ่มช่องทางการขายบนโลกเสมือนจริงแบบไร้รอยต่อ โดยผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ผ้าซิ่น อาจนำมาขายได้ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) เพื่อเป็นชุดมาสวมใส่อวตารของผู้ใช้งาน ขณะที่ตัวผลิตภัณฑ์จริงก็จะถูกส่งไปที่บ้านของผู้ซื้อสินค้าได้ เป็นต้น
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งบรรจุภัณฑ์ ช่องทางการขาย แผนการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับทุนจากภาครัฐเพื่อเข้าไปพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคกลาง มีผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นมากมาย พื้นที่นี้จึงจะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนไปสู่อีกขั้น คือ การเพิ่มช่องทาง Marketplace และหวังจะจับมือเอกชน เพื่อสร้าง Marketplace ใน Generation ถัดไป สำหรับผู้ใช้งานทั้งในโลกเสมือนและโลกจริง
4.โครงการ 88 Sandbox เป็นโครงการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพให้เป็น Next Unicorn ของประเทศ โดยผู้เข้าร่วมจะสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับบรรดาที่ปรึกษา (Mentor) นักลงทุน (Venture Capitalist) และระหว่างสตาร์ทอัพกันเอง เป็นพื้นที่สำหรับการขายงาน (Pitching) การประชุม ตลอดจนการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกันระหว่างสตาร์ทอัพ และ Mentor เพื่อร่วมกันสนับสนุนโครงการดี ๆ ให้กลายเป็นยูนิคอร์นตัวต่อไป
สำหรับ “T-Verse” powered by Brandverse หรือ Thailand Multiverse Bridge Platform คือ โครงการก่อตั้งโลกเสมือนจริงบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นสื่อกลางเชื่อมต่อโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตรระดับประเทศที่จะมาร่วมกันสร้างสังคมไทยแห่งอนาคตบนโลก Metaverse